คณะกรรมการกำลังคนสุขภาพฯ ชี้ชัดสาธารณสุขล้นแน่ ห่วงวางแผนผลิตต้องตอบโจทย์ความต้องการ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบผลการศึกษา “การวางแผนกำลังด้านสุขภาพของประเทศไทยในทศวรรษหน้า” ห่วงอนาคตกำลังคนวิชาชีพสาธารณสุขตกงานแน่ รีบจัดทำข้อเสนอก่อนเกิดปัญหา ขณะที่แพทย์ พยาบาล แผนการผลิตพอเพียงกับความต้องการ เตรียมเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเร็วๆ นี้
 
   การประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมสานใจ ๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.มงคล ณ สงขลา ผู้ทรงวุฒิ เป็นประธาน ได้พิจารณาผลการศึกษา การวางแผนกำลังด้านสุขภาพของประเทศไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๙) ที่คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานนำเสนอ
 
   นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนทางสุขภาพของประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางระบบสุขภาพในอนาคต โดยมอบให้คณะอนุกรรมการฯ ไปจัดทำโดยนำภาพรวมของสถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพ ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเติบโตของสังคมเมือง นโยบายการปฏิรูป ฯลฯ มาประมวล วิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างความต้องการและทิศทางการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพในอนาคต ซึ่งผลสรุปของการศึกษาพบว่า วิชาชีพส่วนใหญ่ทั้ง แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ อัตราการผลิตในปัจจุบันเป็นไปอย่างเหมาะสม กำลังคนในวิชาชีพเหล่านี้จะเพียงพอต่อความต้องการของประเทศในอนาคต จึงไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราการผลิตแล้ว แต่ควรมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของกำลังคนเหล่านี้ที่ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของระบบสุขภาพและสถานการณ์ในอนาคต โดยสถาบันผลิตกำลังคนต้องประสานงานใกล้ชิดกับองค์กรที่ใช้บุคลากร เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนได้อย่างเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์
 
   นพ.มงคล กล่าวว่า ข้อมูลจากผลการศึกษาที่น่ากังวลมาก คือ วิชาชีพสาธารณสุขที่ในอนาคต จะมีมากเกินความต้องการของประเทศ จะเกิดภาวะคนล้นงานแน่นอน ปัจจุบันมีผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสาธารณสุข ทั้งนักวิชาการและเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ประมาณ ๕๔,๐๐๐ คน ขณะที่ปริมาณความต้องการในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าหรือปี ๒๕๖๙ อยู่ที่ประมาณ ๒๔,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ คนเท่านั้น แต่ด้วยอัตราการผลิตที่ปัจจุบันมีกว่า ๙๐ สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอน ผลิตบัณฑิตปีละ ๒๖,๐๐๐ คน จึงคาดการณ์ได้ว่าจะมีนักสาธารณสุขจบการศึกษาอีกกว่า ๒๖๗,๐๐๐ คน
 
   “บุคลากรที่จบการศึกษาวิชาชีพสาธารณสุขส่วนใหญ่จะประจำอยู่ในพื้นที่ชนบท องค์กรปกครองท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีอนามัย แต่จากการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต บริบทของสังคมชนบทเริ่มจะหายไป บทบาทของ รพ.สต.น้อยลง ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องใช้บุคลากรด้านสาธารณสุขจึงน้อยลงด้วย คณะกรรมการกำลังคนฯ จึงมีข้อเสนอว่า จำเป็นต้องทบทวนจำนวนการผลิต และเร่งปรับคุณภาพบัณฑิตที่จะผลิตออก ให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการและบริบทของระบบสุขภาพในอนาคต”
 
   นพ.ฑิณกร โนรี เลขานุการคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการโดยความร่วมมือของวิชาชีพต่างๆ ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และสภาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาข้อเสนอที่เป็นทางเลือกเชิงนโยบายในเรื่องของการผลิต และการจัดสรรกำลังคนด้านสุขภาพทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยได้นำกระบวนการคาดการณ์ความต้องการด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากอัตราการใช้บริการปัจจุบันมาพยากรณ์ถึงความต้องการในอนาคต
 
   “ผลการศึกษาครั้งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบการศึกษา สามารถนำไปใช้วางแผนการศึกษาผลิตกำลังคนด้านสุขภาพได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ในวันนี้คณะกรรมการฯได้เห็นชอบผลการศึกษาแล้ว โดยได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการไปพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่ชัดเจน สามารถนำไปวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพได้สอดคล้องสถานการณ์ หลังจากนั้นคณะกรรมการฯ จะพิจารณาข้อเสนอนโยบายก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป เพื่อเสนอเป็นโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ