ปฏิรูปการวางแผนผลิตกำลังคนทศวรรษหน้า ต้องสร้างทีมสุขภาพ สตาร์ทอัพเทคโนโลยีช่วยจัดการ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติเดินหน้าข้อเสนอการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า ย้ำต้องกระจายบุคลากรและเน้นคุณภาพมากกว่าเร่งจำนวนผลิต เสนอให้ใช้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งระบบปฐมภูมิ ขับเคลื่อน ‘ทีมหมอครอบครัว’ ทำงานร่วมกันเป็นทีมสุขภาพ และเร่งนำเทคโนโลยียุค 4.0 มาช่วยตอบโจทย์บริการสุขภาพในอนาคต
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ หัวข้อ “ล้นตลาดหรือขาดแคลน! ถึงเวลา ‘สแกน’ กำลังคนด้านสุขภาพ” เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
   ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การวาง ‘โรดแมป’ กำลังคนด้านสุขภาพ มีความจำเป็นเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ปัญหาสุขภาพ และมีแนวโน้มของ โรคเรื้อรัง เพิ่มขึ้น ต้องการบุคลากรที่ดูแลสุขภาพระยะยาวและตอบสนองปัญหาสุขภาพจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
 
   ที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ๒ ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน และ คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ที่มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน เพื่อร่วมกันวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพแบบครบวงจรทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ การกระจาย และธำรงรักษาไว้ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
 
   “องค์การอนามัยโลกได้กำหนดอัตราแพทย์และพยาบาลที่เพียงพอ ต้องไม่น้อยกว่า ๒.๒๘ คนต่อประชากรหนึ่งพันคน ซึ่งประเทศไทยมีอัตราอยู่ เหนือเส้นกำหนด ขั้นต่ำนี้ แต่สังคมยังรู้สึกว่ากำลังคนด้านสุขภาพยังไม่เพียงพอ สะท้อนว่าแนวทางการบริหารการจัดการและกระจายบุคลากรที่มีอยู่ยังขาดประสิทธิภาพ จำนวนที่เริ่มเพียงพอแต่มากระจุกตัวกันอยู่ในเมืองที่มีโรงพยาบาลใหญ่ๆ ขณะที่พื้นที่ห่างไกลก็ยังคงขาดแคลนเหมือนที่ผ่านมา”
 
   สิ่งที่ควรพิจารณาคือแนวทางการเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายหรือมาตรการผลิตบุคคลากรเพื่อสร้างความเท่าเทียมในชุมชน ชนบทและเมือง รวมถึงการผลิตบุคลากรที่ใช้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจบริบทปัญหา และพูดภาษาเดียวกันกับชุมชน ทำงานกันเป็นทีมสุขภาพ เพราะกำลังคนด้านสุขภาพนั้นไม่ได้มีเพียงหมอ พยาบาล แต่ครอบคลุมทั้งบุคคลที่มีบทบาทด้านการสร้างเสริมป้องกัน รักษาฟื้นฟู ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ สายสนับสนุน แพทย์แผนไทย ตลอดจนบุคคลต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การทำงานแบบ สหสาขาวิชาชีพ สนับสนุนความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สอดคล้องกับนโยบาย ‘ทีมหมอครอบครัว’ และ ‘ระบบสุขภาพอำเภอ’ ของกระทรวงสาธารณสุข
 
   “ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนเห็นไม่ต่างกันต่อปัญหากำลังคนด้านสุขภาพ คือ ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณหรือจำนวน เพราะสังคมไม่ได้ต้องการแค่ผู้รักษาโรคเท่านั้น แต่ต้องการผู้นำและทีมสุขภาพที่จะเปลี่ยนแปลงคน ครอบครัว และชุมชนนั้นๆ ด้วย”
 
   ดร.นพ.ฑิณกร โนรี เลขานุการคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า กล่าวว่า คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๙) ซึ่งผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้ใช้ ภาครัฐ เอกชน ผู้ผลิต และสภาวิชาชีพ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานรวม ๑๕ ชุด ศึกษาอัตรากำลังคนใน ๙ วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุข แพทย์แผนไทย และสัตวแพทย์ รวมทั้งกำลังคนในระบบสุขภาพรูปแบบต่างๆ อาทิ ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ สถานีอนามัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
 
   “เราพบว่าในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า บางวิชาชีพยังขาดแคลน และบางวิชาชีพมีแนวโน้มผลิตเกินความต้องการ เพราะตลอดช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาขาดแพทย์และพยาบาลด้วยการเพิ่มปริมาณผลิต เช่น เดิมเคยผลิตแพทย์ได้ปีละ ๘๐๐ คน ตอนนี้เพิ่มเป็น ๓,๐๐๐ คน หรือเกือบสี่เท่า ตรงนี้อาจกลายเป็นการผลิตสะสมจนมาถึงจุดที่ต้องระวังว่า ในอนาคตประเทศไทยจะผ่านพ้นสภาพขาดกำลังคนมาประสบปัญหาใหม่ คือ กำลังคนล้นเกินในบางวิชาชีพก็ได้”
 
   ดร.นพ.ฑิณกร กล่าวอีกว่า การประเมินภาพอนาคตของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า พบว่าควรมุ่งให้ประชาชนมีศักยภาพดูแลสุขภาพของตนเอง และเน้นการให้บริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง บูรณาการความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย จัดบริการสุขภาพในพื้นที่ เป็นเครือข่ายอย่างทั่วถึง
 
   ผลการศึกษา พบว่า ช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า วิชาชีพสาธารณสุข มีโอกาสที่จะล้นตลาด เพราะผลิตถึงปีละ ๑๔,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ คน จึงควรทบทวนและปรับสมรรถนะของบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพ เช่น รองรับสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น
 
   ส่วนวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ กายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย หรือแผนไทยประยุกต์ มีอัตราการผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่กลุ่มวิชาชีพพยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ แม้จะยังไม่เพียงพอแต่ก็ไม่ได้ขาดแคลนมากนัก การเพิ่มอัตราการผลิตจึงต้องระมัดระวัง อาจใช้วิธีการบริหารจัดการ เช่น ลดความสูญเสียนิสิตที่เรียนเภสัชศาสตร์หลายร้อยคนที่ลาออกในปีที่สองเพื่อไปสอบเรียนแพทย์ เป็นต้น
 
   ดร.นพ.ฑิณกร กล่าวว่า การเรียนการสอนวิชาชีพต้องตอบสนองต่อวิถีชีวิต สังคม และระบบสุขภาพของคนไทยในอนาคตเป็นหลัก จึงต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้ผลิต ผู้ใช้บริการ หน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย สถานบริการภาคเอกชน สภาวิชาชีพ ให้เกิดภาพใหญ่ร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติจะเสนอข้อเสนอข้างต้นให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพิจารณาต่อไป
 
   “การผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในอนาคตนอกจากตอบโจทย์เรื่องการกระจายบุคลากร และต้องสร้างความเข้มแข็งในบริการระดับปฐมภูมิแล้ว ยังต้องมองการพัฒนาบุคลากรไปให้ไกลว่าวิชาชีพหมอพยาบาล แต่ให้รวมถึงผู้ที่มีทักษะที่จำเป็นอื่นๆด้วย เช่น ไอที เป็นต้น”
 
   นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จุดอ่อนสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ทุกภาคส่วนต้องทุ่มเททรัพยากรและกำลังคนไปที่งานส่งเสริมป้องกันโรคให้มากขึ้น พร้อมกับการปรับทัศนคติใหม่ ให้คนมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพของตัวเองทั้งเชิงป้องกันและรักษา ให้ประชาชนมี Self Management หรือดูแลตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจไปพบแพทย์ และสร้างช่องทางให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพไปให้ถึงประชาชน ที่สำคัญต้องรองรับด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้นโยบาย Health in All Policies หรือทุกนโยบายต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของคน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้คนปรับพฤติกรรม เช่น เพิ่มสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น
 
   “ต้องมองข้ามเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพว่าไม่ใช่หมายถึงแค่หมอพยาบาลเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทุกคน รวมถึงคนในครอบครัว และคนในชุมชน ที่จะช่วยกันดูแลสุขภาพของแต่ละคนก่อนเป็นลำดับแรก แต่ยอมรับว่าไม่ง่ายและเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสั่งการโดยรัฐได้ แต่เห็นว่าทำได้ในระดับพื้นที่หากมีผู้นำที่เอาจริง ตัวอย่างเช่นในจังหวัดสระบุรีได้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำเป็นตัวอย่างในการดูแลสุขภาพของตัวเองก่อน และมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในจังหวัดทำในทิศทางเดียวกัน ทำห้มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน”
 
   นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวต่อว่า อีกจุดอ่อนหนึ่งที่ต้องแก้ไขอีกเรื่อง คือ ต้องหาแนวทางที่จะกระจายกำลังคนด้านสุขภาพลงไปให้ทั่วถึงด้วยไม่กระจุกตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอีกด้วย
 
   ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายกำลังคนและอุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า นโยบายการกระจายบริการสุขภาพ ในรูปแบบ ‘คลินิกหมอครอบครัว’ ใกล้บ้าน เริ่มเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการรักษาพยาบาลและดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสุขภาพประจำครอบครัวคอยให้คำปรึกษา บุคลากรต่างๆ ทำงานร่วมกันเป็นทีม ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งรักษาพยาบาล ส่งเสริม ป้องกันโรค และการฟื้นฟู โดยกำหนดให้แพทย์ ๑ คน รับผิดชอบประชาชน ๑๐,๐๐๐ คน และมีพยาบาล ๑ คนต่อประชาชน ๒,๕๐๐ คน
 
   “การแบ่งความรับผิดชอบเป็นทีมเช่นนี้ เสมือนว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีญาติเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล เป็นบุคลากรสุขภาพที่พึ่งพาได้ ทำให้ประชาชนได้รับการบริการดูแลอย่างใกล้ชิด แล้วยังลดความแออัดของโรงพยาบาลอีกด้วย โครงการในลักษณะนี้อาจมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น คลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ คลินิกชุมชนอบอุ่น ทีมหมอครอบครัว หรือคลินิกหมอครอบครัว”
 
   สำหรับรูปแบบการทำงานของระบบสุขภาพในอนาคต ควรเป็นแบบ ทีมทักษะผสม (Skill Mixed) เช่น การตรวจรักษาโรคง่ายๆ พยาบาลเวชปฏิบัติทำได้เอง ช่วยลดจำนวนแพทย์ที่ต้องทำงานนี้ลง หรือในการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นทักษะที่นักสาธารณสุขทำได้ดี ก็จะช่วยลดในส่วนนี้ของพยาบาลได้
 
   ในส่วนของวิชาชีพพยาบาล ดร.กฤษดา ในฐานะอุปนายกสภาการพยาบาล มองว่า ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนพยาบาลเป็นผลจาก ๓ สาเหตุ คือ ๑.ไม่สามารถรักษาพยาบาลไว้ในระบบบริการสุขภาพได้ พยาบาลรุ่นใหม่ออกจากวิชาชีพเร็วขึ้น ๒.การกระจายพยาบาลในแต่ละหน่วยบริการยังไม่ดีพอ มีการกระจุกตัว บางพื้นที่ขาดอัตรากำลังอย่างรุนแรง บางพื้นที่มีกำลังคนเหลือ ๓.การใช้ประโยชน์จากพยาบาลไม่เต็มศักยภาพ มอบหมายงานอย่างอื่นให้พยาบาลทำ จนกระทบหน้าที่หลัก
 
   “ความต้องการอัตรากำลังพยาบาลในอนาคตจะมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องการการดูแล (Care) และการดูแลระยะยาว ดูแลที่บ้าน มากกว่าการรักษา (Cure) ดังนั้น นอกจากเพิ่มการผลิตให้เพียงพอแล้ว ที่สำคัญคือต้องธำรงรักษาพยาบาลไว้ในระบบให้ได้ และต้องหามาตรการสนับสนุนให้พยาบาลที่ออกจากวิชาชีพไปแล้วหรือเกษียณอายุมีโอกาสเข้ามาเป็น พยาบาลประจำครอบครัว หรือดำเนินกิจการดูแลผู้สูงอายุ หรือ long term care ก็จะช่วยเพิ่มกำลังคนได้อีกส่วนหนึ่ง”
 
   ดร.กฤษดา กล่าวว่า สำหรับการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขนั้นจะต้องเป็นการผลิตเพื่อบทบาทใหม่รองรับแนวทางการส่งเสริมป้องกันโรค จากผู้รักษาเป็นผู้ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน เพื่อให้ปฏิบัติสุขภาพของตนเองได้ถูกต้อง
 
   ด้าน นายศุภกร โคมทอง ตัวแทนกลุ่ม Health Tech Community เชื่อว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการทรัพยากร บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขให้ดีขึ้น เกิดการพัฒนาบริการที่มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการรอคอยแพทย์ในโรงพยาบาล ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และช่วยให้ข้อมูลด้านสุขภาพจำนวนมาก (Big data) มีการถูกนำมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
 
   “Health Tech Startups จะช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ดีขึ้น ลดระยะเวลา ลดภาระคนไข้นอนโรงพยาบาล หรือลดเวลาที่ต้องมาพบแพทย์ เพราะบางโรคต้องการเพียงแค่การติดตามผล มาพบแพทย์เพียงแค่ไม่กี่นาที ซึ่งในอนาคตอาจจะสามารถใช้ระบบ telemedicine ในการพบแพทย์เบื้องต้นโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพยาบาลก็ได้”
 
   ปัจจุบัน กลุ่ม Health Tech Startups ในประเทศไทยกำลังมีการรวมตัวเป็นชุมชน และร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางใหม่ๆ ที่ตอบสนองระบบสุขภาพ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อร่วมกันแชร์ไอเดีย แลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรค เช่น ด้านกฎหมาย การลงทุน เครือข่ายธุรกิจและผู้บริโภค และส่งเสริมให้กลุ่มสตาร์ทอัพที่เข้ามาใหม่ในสายสุขภาพ ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
 
   “เราคิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของบุคลากรในหลากหลายสาขา ทั้งบุคลากรในระบบสุขภาพและบุคลากรด้านไอที เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อการบริการที่มีประสิทธิผลที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาข้ามทักษะ เช่น การพัฒนาบุคลากรด้านไอที ให้มีความรู้ด้านการแพทย์ หรือบุคลการด้านการแพทย์ให้มีความเข้าใจด้านไอทีมากขึ้นอย่างไรได้บ้าง รวมถึงการสร้างพื้นที่ให้กลุ่มคนหลากสาขามาพบปะทำกิจกรรมเพื่อต่อยอดอนาคต โดยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงแรกของการพัฒนารูปแบบอยู่”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ