- 38 views
คิกออฟ! “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ๔ องค์กรหลักด้านสุขภาพ ทั้ง สธ. สสส. สปสช. และ สช. จับมือบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รุกแก้ปัญหาสุขภาพที่สอดคล้องกับความจำเป็นของพื้นที่ ย้ำคณะกรรมการ ๑๓ เขตสุขภาพฯ ทั่วประเทศ ต้องพร้อมสู่การปฏิบัติจริงภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
เมื่อวันที่ ๑๒-๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ครั้งที่ ๑” ที่มี ๔ หน่วยงานหลักด้านสุขภาพ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมือง กทม. โดยเป็นการประชุมเตรียมการทำงานร่วมกันครั้งแรกของทีมเลขานุการร่วม คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.)ทั้ง ๑๓ เขต ที่ประกอบด้วยผู้แทนจาก สช. ก.สธ. สปสช. และ สสส.
ผู้บริหารระดับสูงของ ๔ องค์กรหลักทั้ง นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒน์ รักษาการเลขาธิการ สปสช. และ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. ร่วมในเวทีเสวนาเปิดการประชุม
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.๒๕๕๙ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ในวันนี้ (๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙) โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปและขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่ยึดประโยชน์และความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง มุ่งการบูรณาการงานข้ามภาคส่วน เพื่อกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ยุทธศาสตร์ และกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เป็นองค์ประกอบของ กขป. ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สานพลังการทำงานและทรัพยากรที่แต่ละหน่วยงานองค์กรมีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะไม่มีการตั้งองค์กรใหม่ ทั้งนี้ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ประกอบด้วย ๑๓ เขต ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ ๑๒ เขตพื้นที่ และกรุงเทพมหานครอีก ๑ เขตพื้นที่
“จากนี้ไปจะมีการระดมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ ๔ หน่วยงานหลักรวมถึงกรุงเทพมหานคร ร่วมกันออกแบบและวางกรอบการทำงานให้สามารถเชื่อมโยงทุกหน่วยงานและองค์กรเป็นเครือข่าย ถือว่าเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากเดิมที่มุ่งภารกิจของตนเป็นหลัก เพื่อให้การปฏิรูประบบสุขภาพไปสู่สังคมสุขภาวะได้จริงตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ระเบียบสำนักนายกฯจะมีผลหลังจากนี้อีก ๖๐ วัน จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาของการเตรียมการที่ดีโดยเริ่มจากการประชุมเชิงปฏิบัติการทีมเลขานุการร่วมของแต่ละเขต ที่กำหนดให้มาจากทั้ง ๔ องค์กร ร่วมกันเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่า คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ๑๓ คณะ ประจำพื้นที่ต่างๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้ภายในเดือนมกราคม ๒๕๖๐ นี้ โดยจะมีการประชุมเปิดตัวเขตสุขภาพฯพร้อมกันทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ เขตสุขภาพฯ ต้องรายงานการทำงานให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละครั้ง และภายใน ๒ ปีจะมีการประเมินผลการทำงานและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีด้วย”
พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะเข้ามาเสริมพลังทำให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพประสบผลสำเร็จบรรลุแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปีของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติอีกด้วย ถือเป็นการก้าวไปสู่ความเป็นเลิศใน ๔ ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมป้องกันโรค ระบบบริการสุขภาพ การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และระบบการบริหารจัดการ
“เขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะช่วยบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ทำให้งานบรรลุผลได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเรื่อง การแก้ปัญหายุงลาย ซึ่งมีหลายหน่วยงานดำเนินการอยู่ในพื้นที่ เป็นปัญหาที่ไม่มีขอบเขตพื้นที่ เมื่อใช้กลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะช่วยระดมทรัพยากรทั้งคนและงบประมาณมาดำเนินการในเรื่องที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน ถือเป็นการทำงานแบบสานพลัง ก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่เป้าหมายเพื่อเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง” พญ.ประนอม ระบุ
นพ.ศักดิชัย กาญจนวัฒน์ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางออกภายใต้ความขัดแย้งของหน่วยงานต่างๆ มาช่วยเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง ๔ หน่วยงานหลัก เป็นกลไกให้เกิดความสมานฉันท์ และสนับสนุนศักยภาพให้แต่ละพื้นที่จัดการตนเองได้ โดย กขป. จะต้องเข้ามาเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการเชื่อมประสานระหว่างนโยบายระดับชาติลงสู่การปฏิบัติในจังหวัดผ่านการประยุกต์ให้เข้ากับสภาพของแต่ละพื้นที่ และยังจะช่วยทำให้เห็นถึงความกลมเกลียวในการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานมากขึ้นอีกด้วย
“เขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะสามารถ ต่อปลั๊กการทำงาน ของทุกภาคส่วนให้มาร่วมมือกันทำงานในเรื่องเดียวกัน สามารถตกลงร่วมกันได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการทำงานไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงคือประชาชน”
ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. เสนอ ๔ ประเด็น ที่จะทำให้เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ๑.ต้องมีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ ๒. ใช้ความรู้เป็นฐานในการทำงาน ซึ่งจะทำให้ประเด็นต่างๆ ไปสู่ข้อยุติได้ง่ายขึ้น ๓.ต้องมีผู้นำเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน ๔.ต้องนำโมเดลเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำงาน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
“การทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะสั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก หรือที่เรียกว่า QUICK WIN เพื่อให้สาธารณะได้เห็นผลสำเร็จของงานที่เป็นรูปธรรมในระยะ ๑-๒ ปีนี้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม เพื่อทำให้ผู้คนเห็นว่าเขตสุขภาพเพื่อประชาชนตั้งขึ้นมาแล้วเกิดผลสำเร็จที่ใกล้ตัวประชาชนและชุมชนจริงๆ” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143