สช. จับมือ NOW 26 เปิดตัวสารคดีชุมชนสุขภาวะ ‘ปฏิบัติการ ลุก ปลุก เปลี่ยน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. จุดประกายสารคดีโทรทัศน์รูปแบบใหม่ สร้างแรงบันดาลใจขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจากคนต้นแบบ ชุมชน และพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจากการนำเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาใช้พัฒนาสุขภาวะ เริ่มออกอากาศทีวีดิจิทัล NOW26 ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มกราคมนี้ เป็นต้นไป
 
   เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเผยแพร่รายการสารคดีโทรทัศน์ “ปฏิบัติการ ลุก ปลุก เปลี่ยน” ร่วมกับ บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล NOW 26 ณ ห้องส่งสถานีโทรทัศน์ NOW26 สยามสแควร์ กรุงเทพฯ
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในหลายพื้นที่ ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการสานพลังการทำงานทั้งในระดับจังหวัด และชุมชนต่างๆ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดกลุ่มพลเมืองเข้มแข็งที่ใช้พลังความรู้ ปัญญา และการมีส่วนร่วม และจับมือกันออกแบบนโยบายสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง จากการสนับสนุนของภาครัฐ วิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน ผู้นำท้องที่และชุมชน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และและจุดประกายขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ สช. จึงได้ผลิตรายการกึ่งสารคดี “ปฏิบัติการ ลุก ปลุก เปลี่ยน” ซึ่งจะออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW 26 จำนวน ๑๓ ตอน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐-๑๔.๐๐ น. เพื่อนำเสนอหลักคิดสู่ผลสำเร็จของชุมชนสุขภาวะ ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาความล่มสลายของชุมชนจากอบายมุขและความรุนแรงในครอบครัว ที่ต.หนองหิน จ.ร้อยเอ็ด, การพลิกวิกฤตจากการรุกคืบของโรงไฟฟ้าที่เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา มารู้จักคุณค่าและมูลค่าของชุมชนตนเองจนสามารถคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ได้ เป็นต้น
 
   “รายการ ‘ปฏิบัติการ ลุก ปลุก เปลี่ยน’ จะสะท้อนกระบวนการทำงานที่เข้มแข็งของผู้คนในชุมชนที่มองเห็นปัญหาสุขภาวะและไม่เพิกเฉย กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ค้นหาแนวทางแก้ไข โดยไม่ได้ทำคนเดียว แต่ปลุกคนอื่นๆ ภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ ทั้งโรงเรียน, รพ.สต., อสม. อบต., หมออนามัย, เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชน มาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของปัญญาและการสานพลังความร่วมมือ ระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน มีการใช้ข้อมูลเชิงวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้ปัญหาตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิบัติการร่วมกันของคนในชุมชน และนี่คือวิถีของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่จับต้องได้จริง” นพ.พลเดช กล่าว
 
   คุณเพ็ญศรี สุดชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.หนองหิน จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้ ชุมชนหนองหินเป็นชุมชนที่กำลังจะล่มสลาย คนไร้คุณภาพ จากปัญหาอบายมุข ทั้งสุรา และการพนัน โดยเฉพาะช่วงมีมหรสพ เป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย และความรุนแรงในครอบครัว ตลอดนับสิบปีได้มีความพยายามใช้เครื่องมือต่างๆ ในการแก้ไขแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ กระทั่งมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนมีธรรมนูญสุขภาพที่เป็นข้อตกลงระหว่างคนในชุมชนในเรื่องต่างๆ เป็นกลไกให้ทุกภาคส่วนหันหน้าพูดคุยกัน และทำข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กระบวนการดังกล่าวเป็นเครื่องมือให้ชุมชนหันหน้าเข้าหากัน มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา นำมาสู่จิตสำนึกต่อส่วนรวม การปรับพฤติกรรม การหันมาดูแลกันของคนในครอบครัว ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขในที่สุด
 
   ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ หัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังจากมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด ๖๐๐ เมกะวัตต์จะเข้ามาสร้างในพื้นที่ ทำให้ชุมชนตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่นี้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการโดยบริษัทเดียวกันตั้งอยู่แล้วและสร้างผลกระทบมาโดยตลอด ชุมชนจึงใช้กลไก การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน หรือ ซีเอชไอเอ (Community Health Impact Assessment: CHIA ) ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือที่เกิดจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ที่สนับสนุนให้ชาวบ้านทำวิจัยทางวิชาการด้วยตัวเอง ทำให้เกิดกระบวนการเก็บข้อมูลในพื้นที่ และทำแผนที่ทำมือ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่สามารถวัดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ชุมชนเห็นคุณค่าและหวงแหนบ้านเกิด และยังเสนอเป็นข้อมูลที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังไม่ได้ดำเนินการจนถึงปัจจุบัน
 
   “การทำซีเอชไอเอ ทำให้ชุมชนรู้ว่าเขาหินซ้อนเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ชาวบ้านจับปลาหาเลี้ยงชีพได้ปีละกว่า ๓ แสนบาทต่อราย เป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงส่งออก และเห็ดขนาดใหญ่ของประเทศ ส่งให้กับร้านอาหารขนาดใหญ่และสายการบิน ข้อมูลเหล่านี้ถูกสกัดออกมาเป็นงานวิจัยทางวิชาการและวัดเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทำโดยชุมชนเอง ทำให้ คชก. ยอมรับ และยังไม่อนุมัติโรงไฟฟ้าแห่งนี้ผ่านการพิจารณารายงานผลกระทบทางสุขภาพหรืออีไอเอจนถึงตอนนี้ ” ภญ.ศิริพร กล่าว
 
   นายเทพชัย หย่อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า NOW 26 เป็นสถานีดิจิทัลที่เห็นความสำคัญและนำเสนอรายการสารคดีโทรทัศน์ที่ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของประเทศ ซึ่งแม้รายการ “ปฏิบัติการ ลุก ปลุก เปลี่ยน” จะไม่ใช่รายการเชิงพาณิชย์ แต่รายการประเภทนี้ตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ และสามารถแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ เห็นว่าชุมชนหรือคนเล็กคนน้อยก็สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอหน่วยงานภายนอก ถือเป็นภารกิจของสื่อมวลชนที่ดีที่นอกจากคิดถึงความอยู่รอดทางธุรกิจแล้ว จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคม และสื่อจะมีความสำคัญเมื่อได้เข้ามาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น
 
   “หลายปัญหาไม่ได้แก้ไขได้ด้วยเอาคนไปติดคุก เพราะออกมาไม่นานก็มีพฤติกรรมเหมือนเดิม แต่หากทุกคนในชุมชนมีสำนึกร่วมกัน และช่วยกันลงมือแก้ไขจะเป็นทางออกของปัญหาได้อย่างแท้จริง และสารคดีที่นำเสนอตัวอย่างของชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองจะทำให้เกิดการเรียนรู้ และเป็นแนวปฏิบัติให้กับชุมชนอื่นๆต่อไป” นายเทพชัย กล่าว
 
   รายการสารคดี “ปฏิบัติการ ลุก ปลุก เปลี่ยน”จะออกอากาศทาง ช่อง NOW26 ทุกวันเสาร์ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๔.๐๐ น. โดยจะเริ่มออกอากาศตอนแรกใน วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐ นี้
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ