ทุกภาคส่วนหนุนธรรมนูญระบบสุขภาพ สร้าง ‘คนไทยพันธุ์ใหม่’ รู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวที สช.เจาะประเด็น เร่งสร้างผู้บริโภคไทยยุค ๔.๐ ต้องรู้เท่าทันสุขภาพ ตอกย้ำภารกิจ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๙” ที่กำลังจะประกาศใช้ มุ่งสร้างความเข้มแข็งยุคข้อมูลท่วมโลกออนไลน์ ยกระดับการเข้าถึง เข้าใจ และนำไปใช้ ผนึกกำลังแผนพัฒนาดิจิตอลฯ ของรัฐบาล ขณะที่เจ้าของเพจดังหนุน สร้างวัฒนธรรมตรวจสอบก่อนแชร์แบบผิดๆ
 
   เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙ “ธรรมนูญระบบสุขภาพ ๒๕๕๙ : ภารกิจสร้างคนไทยพันธุ์ใหม่” ณ โถงหน้าห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยกำหนดให้ทบทวนอย่างน้อยทุก ๕ ปี โดยฉบับแรกประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๕๒ และฉบับที่ ๒ ซึ่งเป็นฉบับทบทวนนั้น ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับทราบแล้ว อยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ภาคีทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานด้านสุขภาพที่ครอบคลุมสุขภาพในทุกมิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม เป็นภาพพึงประสงค์ร่วมของระบบสุขภาพ เป็นแนวคิดของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพของพื้นที่ และเป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบสุขภาพในอนาคต
 
   “ธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับ ประชาชนและชุมชน ควรที่จะเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้นในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมีความรู้เท่าทันสิทธิของตน มีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันประชาชนต้องมีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม และที่สำคัญ ต้องมีความเข้มแข็งซึ่งเปรียบเสมือนคนไทยพันธุ์ใหม่ที่จะเป็นรากฐานเพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพของเรา”
 
   นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มหมวดบางหมวดที่ฉบับเดิมไม่มีเขียนไว้ ได้แก่ “สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ” ไม่เฉพาะสิทธิในเรื่องการรับบริการสาธารณสุข แต่ “ผู้บริโภคพันธุ์ใหม่” ต้องมีความเข้มแข็ง สามารถพิทักษ์สิทธิของตนได้ด้วย ซึ่งพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญที่ทุกคนต้องมีคือ “ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ” หรือ Health literacy ในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารไปเร็วและไกลมาก
 
   ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในธรรมนูญระบบสุขภาพปี ๒๕๕๙ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการรู้เท่าทันด้านสุขภาพหรือ Health literacy เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลด้านสุขภาพหลายรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าถึง ขึ้นอยู่ที่ว่าใคร จะทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และนำข้อมูลที่กลั่นกรองแล้วไปใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเอง ไม่ถูกชักจูงจากข้อมูลที่แชร์กันมาอย่างผิดๆ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะภาครัฐต้องสร้างระบบเฝ้าระวัง คัดกรองข้อมูลให้ประชาชนมั่นใจ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนทุกคนต้องมีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ มีความรอบคอบในการตรวจเช็คความถูกต้องของข้อมูล
 
   “ความรู้ความเข้าใจ และความแตกฉานด้านสุขภาพ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ธรรมนูญระบบสุขภาพได้ระบุเอาไว้ โดยจะมุ่งประเด็นที่เป็นหลักสำคัญ คือ เข้าถึง เข้าใจ และนำไปใช้ เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้านข้อมูลสุขภาพ”
 
   เรื่องการสื่อสารทางสุขภาพก็ควรพัฒนาให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของแพทย์ที่ให้คำแนะนำกับคนไข้ ก็ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์เทคนิคหรือภาษาอังกฤษมากเกินไป รวมถึงแนะนำในสิ่งที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และสังคมของผู้ป่วยด้วย ขณะที่คนไทยก็ต้องเลิกวัฒนธรรมเกรงใจ หรือเหนียมอายที่จะซักถาม นอกจากนั้น การมีระบบคุ้มครองการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ และประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจและตระหนักร่วมกันด้วย
 
   ดร.กษิติธร ภูภราดัย คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในหัวข้อ “คนไทย ๔.๐ กับความรู้เท่าทันสุขภาพในยุคโลกดิจิตอล” โดยระบุว่า แผนพัฒนาดิจิตอลฯ มีเป้าหมายให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้เครื่องมือสื่อสารแบบดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการรับรู้เนื้อหาสาระที่จะต้องรู้เท่าทัน ตระหนัก และตรวจสอบข้อมูลจากสื่อออนไลน์ว่าถูกต้องหรือไม่
 
   ดร.กษิติธร กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ หรือ Health literacy ในธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับใหม่ สามารถนำมาเชื่อมโยงกับแผนดิจิตอลฯ ของภาครัฐ ที่มียุทธศาสตร์ Digital Literacy สนับสนุนให้ประชาชนทุกคนใช้เทคโนโลยีเพื่อโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณะ ทั้งด้านสุขภาพและสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน และให้ความรู้ประชาชนตรวจสอบสาระสุขภาพทางออนไลน์ที่มีเป็นจำนวนมาก พร้อมสร้างคนไทยพันธุ์ใหม่ ตั้งแต่ระดับเยาวชน ด้วยการอบรมสิ่งเหล่านี้ในสถานศึกษา โรงเรียน เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลทางดิจิตอล และอีกกลุ่มคือการพัฒนาผู้สูงวัย ซึ่งรับส่งข้อมูลทางไลน์แล้วพบว่ามีการหลงเชื่อ จนเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีส่งข้อมูลที่ผิดๆ เพื่อขยายไปสู่วงกว้าง
 
   “แผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นการส่งเสริมการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ไม่ใช่การพยายามบล็อคข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ส่วนของผู้ที่กระทำผิดในการจงใจเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ ด้านสุขภาพ ก็มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้อยู่แล้ว”
 
   นายอาริยะ คำภิโล หรือ ลุงโจนส์ จาก แฟนเพจ Jones Salad กล่าวว่า เริ่มต้นการทำเพจตั้งแต่เมื่อ ๓ ปีก่อนพร้อมกับการเริ่มทำธุรกิจร้านขายสลัด Jones Salad เพราะรู้สึกว่าข้อมูลสุขภาพทั่วไปเข้าใจยาก จึงนำข้อมูลมาสรุป และทำเป็นการ์ตูนให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ มีทั้งศึกษาเองและปรึกษาคุณหมอที่รู้จักด้วย แต่จะมุ่งเน้นให้ข้อมูลพื้นฐานกับผู้บริโภคมากกว่าการกล่าวโจมตี
 
   นายอาริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายประเด็นสุขภาพที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อาทิ เรื่องการลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เพราะยิ่งอดอาหารจะยิ่งกินมากขึ้น เนื่องจากระบบการเผาผลาญจะทำงานน้อยลง และยังมีผลต่อการทำงานของสมองด้วย รวมถึงการแชร์เรื่อง “กินทุเรียนรักษาเบาหวาน” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดเช่นกัน เพราะ แม้ทุเรียนจะมีค่า GI หรือ ค่าดูดซึมน้ำตาลเข้ากระแสเลือดจำนวนไม่สูง แต่จำนวนน้ำตาลในทุเรียนที่มีมากย่อมเป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นเบาหวานแน่นอน
 
   “ข้อมูลสุขภาพที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย หลายเรื่องไม่เคลียร์ ๑๐๐% มีทั้งผิดและถูก ผู้บริโภคเองต้องศึกษาข้อมูลก่อนแชร์ และเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานสุขภาพ เพื่อไม่ให้ถูกหลอก และกลายเป็นผู้กระจายข้อมูลที่ผิดๆออกไปจากการแชร์ของเรา” ผู้ดูแลแฟนเพจ Jones Salad ระบุ
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ