- 34 views
การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
ทั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งปีนี้จะให้ความสำคัญกับ การติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาแล้ว ๗ ครั้ง รวม ๖๔ มติมากยิ่งขึ้น
อนุกรรมการ คมส.ทั้ง ๒ ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข(คณะอนุฯ คมส.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข) ที่มีนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน มีมติที่เกี่ยวข้องจำนวน ๓๐ มติ และ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ(คณะอนุฯ คมส.ด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ) ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน มีมติที่เกี่ยวข้องจำนวน ๓๔ มติ ได้รายงานความก้าวหน้าในการทำงาน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือมตินั้นต้องมีเจ้าของประเด็นหรือเจ้าของมติ มาเป็นหลักในการดำเนินการ , มีการเฝ้าติดตามหรือมอนิเตอร์ผลว่า ดำเนินการไปถึงไหนอย่างไร และใช้เส้นทางเดินมติ หรือ Road Map เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและติดตามมตินั้นๆด้วย
“ไม่ควรปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ว่าผลลัพธ์ไปถึงไหนแล้ว”
คณะอนุฯ คมส.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงต้องการสร้าง Road Map และกำหนดไทม์ไลน์ของแต่ละมติว่า จะดำเนินการเสร็จเมื่อไหร่ หรือมีความคืบหน้าอย่างไร อาทิ มติสมัชชาสุขภาพฯ เรื่องการจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพของคนไทย ที่มีการกำหนดกระบวนการทำงาน ผลผลิต ตัวชี้วัด ผลลัพธ์ที่ชัดเจน
ขณะที่ยังมี มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านการแพทย์และสาธารณสุข อีกจำนวน ๔ มติ ซึ่งยังไม่มีเจ้าภาพหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นแกนหลัก
“แนวทางที่เราจะดำเนินการต่อไป คือช่วงเดือนตุลาคมนี้ คณะอนุฯ คมส.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะนำมติสมัชชาฯ ที่ยังมีความก้าวหน้าไม่มากนัก มาพูดคุยกัน และพยายามหาจุดคานงัด ของประเด็นนั้นๆเพื่อขับเคลื่อนต่อไปให้ได้”
ด้าน รศ.วิทยา กล่าวว่า คณะอนุฯ คมส.ด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เสนอว่า มีมติที่ควรทบทวนโดยนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติใหม่ (Revisit) เพื่อปรับปรุงเนื้อหามติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตรงกับความเป็นจริง นำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม มีจำนวน ๒ มติ ได้แก่ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกัน ก็น่ายินดีว่า มีหลายมติที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมขับเคลื่อน เช่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง ให้ร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ เรื่อง การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนของคณะอนุฯ คมส.ทั้ง ๒ ชุดดังกล่าว ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และขอสนับสนุนการทำ Road Mapแต่ละมติ จะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นระบบชัดเจน และต้องหาว่าจุด คานงัด ของมตินั้นอยู่ตรงไหน หน่วยงานใดเป็นแกนหลักในการมอนิเตอร์ความคืบหน้า
สิ่งสำคัญที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฝากไว้ก็คือ จำนวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านๆมามีมาก จึงควรเลือกมติที่สำคัญหรือสังคมให้ความสนใจออกมาชัดๆ ให้เป็นกรณีตัวอย่างว่าทำแล้วเกิดความสำเร็จ เห็นพัฒนาการในการขับเคลื่อน (Success Development) นำไปสู่พลังในการขับเคลื่อนมติอื่นๆต่อไป
“ไม่มีกระทรวงใด เพียงกระทรวงเดียว ทำงานแล้วสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันท้ังหมด แต่การจะไปสู่จุดนั้นได้ ผมคิดว่าเราต้องมีเป้าเดียวกันด้วย”
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144