ตั้งทีมประมวลผลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พัฒนานโยบายสาธารณะ...สู่มติที่มีชีวิต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   การจัด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ดำเนินการมาแล้ว ๗ ครั้ง เรียกได้ว่าผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาว มาจนถึงปีนี้ นับเป็นครั้งที่ ๘
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงมีการประเมินผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงกระบวนการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆในเวทีแห่งนี้ มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
 
    ปีนี้ สช.ได้มอบให้ รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าทีม มาประเมินผลการทำงานในครั้งที่ ๘ นี้ เพื่อปรับปรุงการกระบวนการทำงาน ในปีต่อๆไปด้วย
 
   ในการประชุม คณะอนุกรรมการประเมินผล ที่มี ดร.วณี ปิ่นประทีป เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ รศ.ดร.ลือชัย กล่าวถึงสถานการณ์ในวันนี้ว่า ภาคีเครือข่ายมีเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาทางสังคมต่างๆหลากหลายมากขึ้น ภายใต้กระแสการปฏิรูปประเทศ
 
   ดังนั้น ความคาดหวังให้ทุกภาคส่วนใช้เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการแก้ปัญหาอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติควรมียุทธศาสตร์ในการทำงาน และเป้าหมายต้องไม่จบที่การพัฒนาเป็นเอกสารมติเท่านั้น แต่ต้องทำให้มติ “มีชีวิต” ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนและเชื่อมโยง ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
 
   “ทำอย่างไรให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นพื้นที่สาธารณะแบบตลาดนัด ที่รองรับกลุ่มคนที่หลากหลาย มีเจ้าของจากหลายๆภาคส่วน เป็นพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและมีชีวิต ที่สำคัญคือให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่โจทย์ ที่เป็นความทุกข์ กังวล และความสนใจร่วม ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่”
 
   ด้าน ผศ.(พิเศษ)กาญจนา ทองทั่ว มูลนิธิประชาสังคม จ.อุบลราชธานี เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยย้ำภารกิจที่สำคัญของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่าต้องเป็นผู้เชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆเข้ามาทำงานร่วมกัน
 
   โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ มีการปรับกระบวนการทำงานใหม่ โดยไม่มุ่งเน้นการรับรองมติในช่วงสุดท้ายของการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่จะมีกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และเน้นการขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพจังหวัดมากขึ้น
 
   รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคีเครือข่ายที่มีส่วนได้เสียในประเด็นที่จะเสนอเป็นมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และไม่มุ่งเน้นการเร่งรัดพัฒนาประเด็น เพื่อเสนอเป็นมติให้ทันสมัชชาสุขภาพในปลายปี
 
   นอกจากนี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯครั้งนี้ ทีมประเมินผลจากมหาวิทยาลัยมหิดล ยังเสนอที่จะหาคำตอบเพิ่มเติม ถึงเหตุผลที่ส่งผลให้บางภาคีเครือข่าย ถอนตัว ออกไปจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการหาคำตอบ ของงานวิจัย ซึ่งครอบคลุม ๓ ประเด็นคือ ๑.การออกแบบสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ สะท้อนความแตกต่างหลากหลายได้มากน้อยเพียงใด ๒.การสร้างให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นหลากหลาย และมี ดุลยภาพ ระหว่างการผลิตมติกับการบรรลุเป้าหมายอื่น ทำได้มากน้อยเพียงใด และ ๓.พัฒนาให้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติภายใต้วิธีคิดแบบสมานฉันท์ เป็นบรรทัดฐานของสังคม มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ