- 96 views
สช. จัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ระดมความเห็นทุกภาคส่วนร่วมร่างนิยามปฏิบัติการ ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ เพื่อความชัดเจนในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ชี้เป็นเรื่องทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและสังคม จึงต้องมีกรอบในการดำเนินการของทุกฝ่าย
เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัด สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย นิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สำหรับประเทศไทย โดยมีหลายภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอแนะเพื่อหาฉันทมติร่วมกัน
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานครั้งนี้ว่า เพื่อจัดทำนิยามปฏิบัติการที่เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานเดียวกันสำหรับใช้กับทุกหน่วยงานและเพื่อการอ้างอิงทางวิชาการ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ต่างคนต่างนิยามความหมายของคำดังกล่าวจากการศึกษาในต่างประเทศที่แต่ละคนไปเรียนมา ส่วนหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งก็คิดนิยามโดยอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลกบ้าง จากโรงเรียนแพทย์บ้าง ซึ่งนิยามที่ไม่ชัดเจนก่อให้เกิดปัญหาในการดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย
“ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานพยายามทำเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในสังคมไทย เมื่อยื่นมือเข้าไปช่วยก็จะติดขัดระเบียบของหน่วยราชการว่าอันนี้ทำได้ ทำไม่ได้ เมื่อเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันก็ทำให้หน่วยงานตรวจสอบ เช่น สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ติงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคุณ คุณทำไม่ได้ ใช้เงินผิดประเภท เลยทำให้หลายท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องเบรกการทำงานไว้ก่อน” นพ.สุพรรณ กล่าว
ขณะที่ อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น คาดว่าการจัดสมัชชาเฉพาะประเด็นครั้งนี้จะมีผลเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนให้สามารถนำไปใช้ เพราะนิยามปฏิบัติการมีความสำคัญในการทำให้เกิดความชัดเจนในการดูแลแบบประคับประคองว่าขั้นตอนไหนควรจะทำอย่างไร
“เราจะนำเสนอเรื่องการดูแลแบบประคับประคองไปยัง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) กับ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วย เพื่อให้เขาสามารถสนับสนุนให้เกิดการดูแลแบบประคับประคองในครอบครัว เพราะการดูแลแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมาดูแลที่โรงพยาบาลก็ได้ ดูแลโดยชุมชนก็ได้ แล้ว สปสช. ก็พยายามจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนท้องถิ่นให้ทำงานเรื่องพวกนี้ รวมถึงเสนอเรื่องนี้ไปยังประกันสังคม กรมบัญชีกลาง เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้สามารถนำนิยามปฏิบัติการที่ผ่านประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไปปฏิบัติในพื้นที่ได้”
การดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสู่การ “ตายดี” เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ซึ่งเพิ่งมีการพูดถึงในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นการดูแลไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ ทางการแพทย์ เพราะเชื่อมกับชุมชน/สังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งการกำหนดนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคองที่ชัดเจนจะช่วยให้เห็นภาพบทบาทการทำงานของภาคส่วนต่างๆ อีกทั้งยังสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรทางการแพทย์มีบทบาทอย่างไร ชุมชนและสังคมจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างไร เป็นต้น
โดยนิยามศัพท์ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในที่ประชุม อาทิ ความหมายของศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคอง เช่น ‘ภาวะเจ็บป่วยระยะท้าย’ คืออะไร ‘ผู้ดูแลหลัก’ มีความหมายครอบคลุมแค่ไหน การนิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งในปัจจุบัน สังคมมีความหลากหลายทางเพศ ความหมายของครอบครัวจึงเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่คู่สามี-ภรรยาในแบบดั้งเดิม จึงต้องมีการนิยามความหมายของครอบครัวให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการแลกเปลี่ยนความหมายของคำว่า ‘มิติทางจิตวิญญาณ’ เพราะในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายเพื่อไปสู่การตายดีนั้นเชื่อมโยงกับมิติความเชื่อทางศาสนาของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น
ภายหลังการประมวลความเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้ทำการรับรองร่างมตินิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สำหรับประเทศไทย เพื่อเตรียมการนำเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการดูแลแบบประคับประคองต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143