ชงจัดพื้นที่ ‘ใต้ทางด่วน’ รองรับ ‘หาบเร่แผงลอย’ พัฒนาเมืองน่าอยู่ร่วมกัน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองดันแนวทางจัดการ “พื้นที่ใต้ทางด่วน” รองรับ “หาบเร่แผงลอย” เปลี่ยนวิกฤติเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและจัดการพื้นที่ร่วมกัน เพราะหาบเร่แผงลอยสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่สาธารณะอย่างเอื้อประโยชน์ต่อกันได้
 
   หาบเร่แผงลอยที่อาจถูกมองว่ากีดขวางทางเท้า แต่ในความจริงอีกด้านกลับมีความสำคัญหลายประการต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทางออกที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การนำออกไป แต่คือ การหาวิธีบริหารจัดการให้หาบเร่แผงลอยสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่สาธารณะในเมืองได้
 
   ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคลื่นความคิด FM 96.5 ว่า ทางศูนย์และภาคีเครือข่ายได้จัดทำข้อเสนอการฟื้นฟูเมืองพร้อมกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยขึ้นไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีและกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้เห็นว่าเมืองสามารถมีที่ทำกินให้กับทุกคนถ้ามีการวางแผนและจัดการ
 
   ผศ.ดร.นิรมล อธิบายว่า ทางเท้าในกรุงเทพฯ มีหลายขนาดความกว้าง ตั้งแต่เมตรกว่าๆ จนถึง 8 เมตร เมื่อคำนวณออกมาพบว่า บาทวิถีที่มีความกว้างอย่างน้อย 2 เมตร สามารถให้หาบเร่แผงลอยตั้งได้โดยไม่กีดขวางทางสัญจรตามระเบียบกรุงเทพฯ และสามารถรองรับแผงลอยได้ถึงร้อยละ 50 ของที่มีอยู่
 
   “ส่วนอีกห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เราลองมาดูพื้นที่ ที่จะยิงกระสุนนัดเดียวแล้วแก้ปัญหาบรรเทาทุกข์และปรับปรุงเป็นพื้นที่สำหรับคนเมืองได้ พื้นที่ยุทธศาสตร์นี้ก็คือ พื้นที่ใต้ทางด่วนที่มีประมาณ 600 ไร่ ผ่านหลายพื้นที่ที่มีทางสัญจรเชื่อมโยงกับที่อยู่อาศัย แหล่งงาน สามารถใช้พื้นที่นี้เป็นแหล่งอาหารและเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมืองได้”
 
   ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้ความสนใจ ซึ่งทาง ผศ.ดร.นิรมล ได้เข้าไปนำเสนอเรื่องนี้เพื่อร่วมกันดำเนินงานตามกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งแนวทางนี้จะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร เช่น โมเดลสวนสอยฟ้าเจ้าพระยาที่ปรับปรุงจากโครงสร้างรถไฟฟ้าเดิมที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพฯ
 
   “นี่คือโมเดลที่ดีมากๆ ของการพัฒนาฟื้นฟูเมือง ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินมากมายร่วมมือกับท้องถิ่นได้ ถ้าเรามองโมเดลเดียวกัน พื้นที่ใต้ทางด่วนมีที่ดินมากมายก็สามารถนำมาพัฒนาได้ อย่างช่วงโควิดหลายคนอยู่หอพัก คนกลุ่มนี้แทบไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิต ถ้าเราบอกว่าต้องเตรียมรับมือนิวนอร์มอล บ้านที่ดีไม่พอ ต้องทำย่านที่ดีด้วย ถ้าเราปรับพื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นพื้นที่สีเขียว คนก็สามารถมาเดินพักผ่อนหย่อนใจได้ การลงทุนนี้คุ้มค่า”
 
   ผศ.ดร.นิรมล ยังยกกรณีตัวอย่างในต่างประเทศว่า ช่วงทศวรรษ 1960 สิงคโปร์มีหาบเร่แผงลอยอยู่จำนวนมาก แต่มีงานวิจัยพบว่า หาบเร่แผงลอยเป็นแหล่งค้ำจุนคนที่มีรายได้น้อย รองรับการว่างงานสำหรับแรงงานที่ต้องการเวลาเลื่อนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ จึงมีการเสนอนวัตกรรมทางสังคมในยุคนั้น ด้วยการนำหาบเร่แผงลอยมารวมกันในเชลเตอร์คล้ายโรงอาหารเรียกว่า ฮอว์กเกอร์เซ็นเตอร์ (Hawker Centres) มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม รัฐสนับสนุนค่าเช่าส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้แหล่งอาหารที่ถูกสุขอนามัยและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
 
   “เราสนับสนุนให้ทุกคนมีที่ทำกิน แต่ต้องมีการวางแผน ผู้ค้าก็ต้องปรับตัว แล้วหาบเร่แผงลอยจะอยู่ร่วมกับพื้นที่สาธารณะและเอื้อประโยชน์กันและกันได้” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ