- 105 views
๕ องค์กรภาครัฐและวิชาการร่วมลงนาม MOU จัดทำนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองของประเทศไทย หวังรับมือสถานการณ์สังคมผู้สูงวัยและโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น มั่นใจช่วยยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เล็งเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศฯ เพื่อขับเคลื่อนนำไปปฏิบัติในสถานพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมดัน ๓ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลเบิกจ่ายอย่างครอบคลุม
วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ มี “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำนิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ของประเทศไทย” ระหว่าง ๕ องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นองค์ความรู้สำคัญและจำเป็นต่อสังคมไทย เห็นได้จากผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังสูงขึ้นทุกปี ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและปรับปรุงการใช้จ่ายงบประมาณให้เอื้อต่อการดูแลแบบประคับประคองในชุมชน และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยให้บริการ เป็นต้น แต่การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวยังมีประเด็นปัญหาที่สำคัญคือเรื่องคำนิยามและความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ในประเด็นความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบการปฏิบัติ การเบิกจ่ายและตรวจสอบงบประมาณฯลฯ
“สช. ในฐานะหน่วยงานหลักขับเคลื่อนเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย จัดทำนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคองทั้งหมด เพื่อให้เกิดการยอมรับเป็นมาตรฐานเดียวกัน นำไปใช้กับสถานพยาบาลต่างๆ ส่งผลต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่ดีขึ้น”
นพ.พลเดช กล่าวว่า เมื่อการจัดทำคำนิยามเสร็จสิ้นแล้ว สช. จะนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นมาใช้ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและหาฉันทมติร่วมกัน ก่อนเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติออกประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเสนอกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง ออกประกาศกระทรวงฯ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดูแลแบบประคับประคองอย่างยั่งยืนและเป็นสากล
ภายในงาน มีการเสวนาหัวข้อ “เฟืองขับเคลื่อนสำคัญ : นิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองสำหรับประเทศไทย” โดย นพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยเสียชีวิตปีละ ๔๕๐,๐๐๐ คน โดยร้อยละ ๕๐ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนที่เหลือไม่ระบุว่าเสียชีวิตที่ใด ซึ่งผลการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ป่วยระยะท้ายส่วนใหญ่ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน แต่ติดขัดปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลยังไม่ครอบคลุม ทั้งส่วนของกรมบัญชีกลางที่ดูแลสิทธิประโยชน์ข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม
นพ.อุกฤษฎ์ มองว่า การกำหนดมาตรฐานกลางของคำนิยามการดูแลแบบประคับประคองมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ระบบสวัสดิการที่รองรับให้ผู้ป่วย กฎหมาย งบประมาณ การพัฒนากำลังคนและหลักสูตรการศึกษา อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นและลดภาระด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะทำงานวิชาการจัดทำคำนิยามปฏิบัติการฯ กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยปฏิบัติเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแต่ละแห่งปฏิบัติตามแนวทางที่ตนเองเข้าใจ ซึ่งการกำหนดคำนิยามปฏิบัติการฯ จะช่วยสร้างมาตรฐานที่เป็นกรอบแนวทางเดียวกัน เพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและปรับใช้ให้คนไข้ได้รับประโยชน์มากที่สุด
“การศึกษาครั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับหลักการทางวิชาการและกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยการรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเห็นตรงกันด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็จะนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช.สนับสนุนให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับบริการแบบประคับประคองที่มีคุณภาพโดยจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายรายบุคคลให้แก่หน่วยบริการ ตั้งเป้าหมายการเข้าถึง ๑๐,๐๐๐ รายในปีนี้
“ปัจจุบันคณะกรรมการจัดทำสิทธิประโยชน์กลาง อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับสวัสดิการนี้อย่างเท่าเทียมกันทั้ง ๓ กองทุน คือ สปสช. กรมบัญชีกลาง และกองทุนประกันสังคมด้วย”
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย ผู้แทนสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. จะร่วมสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อให้เกิดข้อสรุปในเรื่องนิยามและความหมายของการดูแลแบบประคับประคองและการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice care) รวมทั้งคำว่า ภาวะใกล้ตาย วาระสุดท้ายของชีวิต ความตายในทางการแพทย์และทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อใช้สำหรับอ้างอิงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกัน
“คำนิยามเหล่านี้จะช่วยให้บุคลากรด้านสุขภาพใช้สื่อสารกับประชาชน ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเบิกจ่ายและสนันสนุนงบประมาณในการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้าย”
รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน อาทิ คำนิยามของผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งในต่างประเทศกำหนดชัดว่าเป็นผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตช่วง ๖-๑๒ เดือน ฯลฯ รวมถึงพัฒนาระบบการดูแลทั้งด้านการแพทย์และสังคม รวมถึงชุดสิทธิประโยชน์ที่รองรับประชาชนทุกคน
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143