สช. จับมือ สธ. ถอดบทเรียน รับมือระบบสุขภาพ 20 ปีข้างหน้า | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขย้อนประวัติศาสตร์การสาธารณสุขไทย ถอดบทเรียนผลสำเร็จ-ล้มเหลว หวังวางแนวทางรับมือระบบสุขภาพอนาคตระยะ ๒๐ ปี ด้านภาคประชาชนย้ำสื่อสารแบบเคาะประตูบ้านให้เข้าถึงประชาชน เพื่อให้รู้ถึงสิทธิด้านสุขภาพ และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสุขภาพ
 
   เมื่อวันที่ ๕ มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดงาน ๑๐๐ ปีการสาธารณสุขไทย โดยมีเสวนาหัวข้อ “จากอดีต สู่อนาคตการสาธารณสุขไทย” ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี
 
   นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในอนาคตค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลของประเทศทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นมากกว่า ๒ เท่าตัว จาก ๖ แสนล้านบาทเป็น ๑.๓ ล้านล้านบาทภายใน ๒๐ ปี ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวทั้งผลดีและผลเสีย โดยเบื้องต้นมี ๔ แนวทาง ได้แก่ ๑.การหารายได้เพิ่มเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย อาทิ การเพิ่มภาษี แต่ไม่ได้เป็นทางออกทั้งหมดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน ๒.การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจ่าย โดยเฉพาะ กลุ่มคนที่มีกำลังพอจ่ายได้ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลมุ่งตรงไปที่การรักษาพยาบาลที่มีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ๓.การปรับปรุงระบบรักษาพยาบาลของ ๓ กองทุน ทั้งกองทุนประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ และสวัสดิการข้าราชการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และ ๔.ส่งเสริมให้โรงพยาบาลบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งสามารถลดภาระหนี้และขาดทุนได้ แต่ทั้งหมดต้องมีการศึกษาให้รอบด้าน
 
   “ทางรอดเดียวของระบบสาธารณสุขในอนาคต คือ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน และบูรณาการอย่างไร้รอยต่อ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะต้องไปจับมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพของตนเอง”
 
   ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า ในโอกาสที่ครบรอบ ๑๐๐ ปีการสาธารณสุขไทย นับจากการก่อตั้งกรมสาธารณสุขในปี ๒๔๖๑ ถือเป็นโอกาสในการทบทวนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เรียนรู้ทั้งผลสำเร็จและล้มเหลว ไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยเดิม
 
   “ครบ ๑๐๐ ปีสาธารณสุข ไม่ควรมีแต่งานเฉลิมฉลอง แต่ควรใช้เป็นโอกาสเรียนรู้ความล้มเหลวที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนต่อปัญหาและข้อผิดพลาด ซึ่งจะทำให้เราลดความอหังการ์และปรับตัว”
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า แนวทางที่ต้องดำเนินการคู่กันไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คือ การปฏิรูประบบบริหารงานสาธารณสุข โดย (๑) ปรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขให้ชัดเจน จากปัจจุบันที่เป็นทั้งผู้กำกับนโยบาย (Policy Regulator) ผู้ซื้อบริการแทนประชาชน (Purchaser) และผู้ให้บริการประชาชน (Provider) โดยปฏิรูปโครงสร้างความสัมพันธ์และบทบาทหน้าที่ ให้เกิดการแบ่งแยกที่ชัดเจนและมีการหนุนเสริมกัน (๒) ปฏิรูประบบส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค และการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม และ (๓) ปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ รวมทั้งพิจารณาในเรื่องของนโยบายสาธารณะว่าด้วยบทบาทโรงพยาบาลเอกชนด้วย โดยการปฏิรูปโครงสร้างและความสัมพันธ์จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งภาพเหล่านี้จะชัดเจนมากขึ้นในปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓
 
   คุณนรินทร ณ บางช้าง นักร้องและนักแสดง ในฐานะภาคประชาชนที่ใช้บริการระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น เรื่องเพศทางเลือก ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะที่มีมากขึ้นในสังคมไทย และหลายคนใช้ชีวิตคู่ ดังนั้นระบบการรักษาพยาบาล เช่น ความยินยอมก่อนผ่าตัด จะต้องคำนึงถึงบริบทนี้ รวมถึงการสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนแบบเคาะประตูบ้าน และสื่อสารแบบให้เข้าใจง่าย เช่น การทำซีรีย์เพื่อสร้างความเข้าใจในสิทธิด้านสุขภาพของตัวเอง เพราะกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะช่วยในการตัดสินใจ ทำให้หลายคนเข้าไม่ถึงการรักษา นอกจากนี้จะต้องสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพด้วย เพื่อให้เข้ามาร่วมตัดสินใจนโยบายต่างๆ
 
   โดยในช่วงเวลา ๑๕.๐๐ น. ยังได้มีการเปิดนิทรรศการ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” และให้ผู้มาร่วมงานเยี่ยมชมหอประวัติศาสตร์สุขภาพ ที่บริเวณชั้น ๑ อาคารสุขภาพแห่งชาติ อีกด้วย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ