- 1037 views
นพ.นิรันดร์ ระบุเครื่องมือทางกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอสู้ภัยโควิด19 ต้องมีมาตรการทางสังคมเข้าหนุนเสริม ชี้ ‘ธรรมนูญสุขภาพตำบล’ เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้การทำงานระดับพื้นที่เกิดการ บูรณาการ เชื่อว่าไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด19 สะสมในประเทศล่าสุด วันที่ 2 เมษายน 2563 อยู่ที่ 1,875 คน หลายจังหวัดมีการประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันรัฐก็ใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นอำนาจทางกฎหมาย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 10 และคณบดีวิทยาลัยการแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ในรายการคลื่นความคิด FM 96.5 เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ในจังหวัดอุบลราชธานีว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 14 ราย ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขสามารถสอบสวนโรคได้เร็วและให้การดูแลอยู่ แต่มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีมาตรการทางสังคมหนุนช่วยด้วย เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตของประเทศและของโลก การทำงานของหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆ จำเป็นต้องหลอมรวมกัน และธรรมนูญสุขภาพตำบลถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือ
“ในสถานการณ์โควิด ยุทธศาสตร์คือต้องลดการระบาดให้ได้ ธรรมนูญตำบลเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสมัชชาสุขภาพจังหวัด เป็นเครื่องมือที่เป็นข้อตกลงในพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงหมู่บ้าน เมื่อเป็นข้อตกลงร่วมกัน คนก็จะให้ความร่วมมือ คนอพยพเข้ามา กลุ่มเสี่ยงเข้ามา ต้องตรวจสอบ คนที่ไม่รู้ว่าติดหรือไม่ก็มีมาตรการควบคุมตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากาก งานบุญงานบวช งดหมด” นพ.นิรันดร์กล่าว
ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพ นับเป็นเครื่องมือหนึ่ง ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำธรรมนูญระดับประเทศเพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพทั้งระบบ ขณะที่อีกด้าน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เผยแพร่แนวคิดและวิธีการใช้เครื่องมือนี้สำหรับหน่วยย่อยอย่าง ‘ชุมชน’ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนนั้นๆ ลุกขึ้นมาร่วมกันสำรวจปัญหาตามบริบทของตน และร่วมกันสร้างข้อตกลงในการแก้ปัญหาหรือสร้างแนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น ในแต่ละพื้นที่จึงมีจุดเน้นและข้อตกลงความร่วมมือที่แตกต่างหลากหลายตามสถานการณ์ของตนเอง
“ผมไปอำเภอพิบูลมังสาหาร เกือบทุกฝ่ายกระตือรือร้นเรื่องนี้มาก ไม่อยากให้มีผู้ติดเชื้อ นายอำเภอมาเป็นประธาน มีกำนันจาก 14 ตำบล รพ.สต. (โรงพยาบาลสุขภาพตำบล) สาธารณสุขอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน จะร่วมกันเอาร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลไปทำประชาพิจารณ์ในระดับหมู่บ้านว่าสอดคล้องกับบริบทที่เป็นอยู่ไหม นี่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงร่วมกัน” นพ.นิรันดร์กล่าว
จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วม 20 ปี นพ.นิรันดร์เห็นว่าการรับมือวิกฤตรอบนี้เครือข่ายต่างๆ ล้วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการกำหนดมาตรการทางสังคมร่วมกัน เช่น การยกเลิกการแข่งขันกีฬา งานพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ เพื่อลดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก ถ้ามีอะไรผิดปกติในชุมชนก็จะแจ้งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. เข้าไปตรวจและเฝ้าดูอาการ
เนื่องจากธรรมนูญสุขภาพตำบลเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชน ทำให้ประชาชนยินดีปฏิบัติตาม ตรงนี้จะค่อนข้างแตกต่างจากมาตรการทางกฎหมายที่ถือเป็นยาแรง
“ถ้ามีคนที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นธรรมนูญ ตอนแรกจะใช้วิธีเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจ โดย อสม. กำนัน หรือผู้ใหญ่ ว่าถ้าเขาไม่ทำตามจะมีผลกระทบอย่างไร ถ้าไม่ได้ผลก็จะมีมาตรการอื่น นอกจากนี้คนที่กลับมาเพราะตกงาน ไม่มีรายได้ ลำพังเงินเดือนละห้าพันไม่พอ จะต้องมีการฟื้นฟูอาชีพให้เขามีรายได้ ชุมชนต้องช่วยกัน สนับสนุนกัน คือต้องทำให้เขายอมรับอันตรายที่ใกล้ตัวเขา ใกล้คนที่เขารัก ถ้าสร้างความรู้สึกนี้ร่วมกันได้ก็ไม่ต้องใช้อำนาจหรือบทลงโทษ” นพ.นิรันดร์อธิบายเพิ่มเติม
นพ.นิรันดร์ ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกันระหว่าง กขป. และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน เพื่อเชื่อมต่อการทำงานลงไปในระดับตำบลและหมู่บ้าน และยังเชื่อมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการนำเงินกองทุนสุขภาพตำบลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาใช้ป้องกันโรค ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชน ซึ่งหากเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยมีธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านเป็นแกนก็จะเกิดการบูรณาการระหว่างรัฐ ประชาชน และองค์กรต่างๆ ในการดูแลป้องกันการระบาด
“ผมมั่นใจว่าเมืองไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ เรามีโครงสร้างการทำงานระดับพื้นที่ที่ทำมานานแล้ว เมื่อมีธรรมนูญสุขภาพที่ทำงานในระดับพื้นที่ได้ การเข้าสู่ระยะที่สามของการแพร่ระบาด ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น” นพ.นิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147