คำว่า Literacy หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า “ความรอบรู้” หรือ “การรู้เท่าทัน” อาจจะเป็นคำที่ไม่คุ้นหูของคนไทยสักเท่าใด หากแต่คำๆ เดียวกันนี้กลับเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และเป็นสิ่งที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs) อธิบายว่า Literacy เป็น “วิธีการ” ที่จะนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ซี่งครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
นอกจากจะเป็นหนึ่งในระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณาภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561 แล้ว “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” (Health Literacy) ยังนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ นั่นเพราะเป็นทักษะสำคัญของมนุษยชาติในอนาคต
ทุกๆ นโยบายสาธารณะที่ประกาศใช้เป็นเข็มทิศขับเคลื่อนสังคม หรือใช้เพื่อรับมือกับมหันตภัยในหลากหลายรูปแบบ ย่อมเชื่อมโยงกับชีวิตคนทุกคนไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง การชักชวนผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมออกแบบอนาคตของตัวเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการจัดทำนโยบาย
ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลเพียงชั่วพริบตาในยุคที่เข็มนาฬิกาเดินช้ากว่าสัญญาณดิจิทัล มีข้อมูลสุขภาพจำนวนมากถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทาง ในแต่ละวันหน้าบนเฟซบุ๊กหรือแชทไลน์เกลื่อนกลาดไปด้วยข้อมูลทั้งที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และที่คลาดเคลื่อนและเป็นเท็จ ข้อมูลเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อขยายวงออกไปเรื่อยๆ
ที่น่ากังวลก็คือ ข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนและเป็นเท็จเหล่านั้น กลับมีพลังมากพอจะสร้างความเชื่อ โน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิด และชักนำให้ใครหลายคนเผชิญหน้ากับความเสี่ยงด้านสุขภาพได้โดยไม่ยาก
มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในเงื้อมมือมัจจุราชที่ชื่อว่า “โรคไม่ติดต่อ” ที่เป็นต้นเหตุคร่าชีวิตของประชากรโลกและไทยมากถึง 70% และเพื่อที่จะคัดง้างกับสถานการณ์อันขมึงเกลียว “องค์การอนามัยโลก” จึงแนะนำให้แต่ละประเทศ “ลงทุน” และติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนด้วยการสร้าง “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” หรือ Health Literacy ซึ่งจะนำมาซึ่งความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยง NCDs