ชีวิตในเงื้อมมือมัจจุราช NCDs รอดพ้นได้ด้วย ‘ความรอบรู้ด้านสุขภาพ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในเงื้อมมือมัจจุราชที่ชื่อว่า “โรคไม่ติดต่อ” ที่เป็นต้นเหตุคร่าชีวิตของประชากรโลกและไทยมากถึง 70% และเพื่อที่จะคัดง้างกับสถานการณ์อันขมึงเกลียว “องค์การอนามัยโลก” จึงแนะนำให้แต่ละประเทศ “ลงทุน” และติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนด้วยการสร้าง “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” หรือ Health Literacy ซึ่งจะนำมาซึ่งความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยง NCDs
 
   โรคไม่ติดต่อ (NCDs) อันประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง นับเป็น “มัจจุราชซ่อนรูป” ที่ค่อยๆ รุกคืบ และเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากถึง 70% และคร่าชีวิตคนทั่วทั้งโลกถึงปีละ 38 ล้านคน หรือคิดเป็น 68% ของการเสียชีวิตของประชากรโลกในปี 2555 และในจำนวนนี้มีมากกว่า 16 ล้านคน ที่ “ตายก่อนวัยอันควร” หรือตายก่อนอายุ 70 ปี
 
   พลานุภาพการทำลายล้างของกลุ่มโรคไม่ติดต่อดังกล่าวสามารถทำให้เศรษฐกิจถึงขั้นพังพินาศได้ โดยข้อมูลวิชาการจากทั่วโลกต่างยืนยันตรงกันว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีก 15 ปีข้างหน้า จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และประชากรอีกหลายล้านชีวิตจะต้องติดอยู่กับความยากจนข้นแค้นต่อไป
 
   แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะตระหนักและให้ความสำคัญกับการป้องกัน NCDs อย่างเร่งด่วน ด้วยการตั้งเป้าควบคุมอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้เหลือเพียง 25% ในปี 2562 หากแต่จนถึงขณะนี้ สถิติการตายกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะถึงจุดสิ้นสุด
 
   เพื่อป้องกันสภาพปัญหาที่กำลังบานปลายออกไปทุกที WHO จึงเสนอให้แต่ละประเทศ “ลงทุนในมาตรการที่คุ้มค่า” เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยมีการคำนวณว่าการลงทุนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้ผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมกลับคืนมาถึง 7 ดอลลาร์สหรัฐ
 
   นอกจากนี้ WHO ยังได้เน้นย้ำให้แต่ละประเทศมีการ “กำหนดเป้าหมายระดับประเทศ” ด้วยการระบุพันธะรับผิดชอบ (Accountability) รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมด้วย
 
   สำหรับประเทศไทย หลากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ พยายามหยุดยั้งและลดความสูญเสียจาก NCDs ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชน “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ของตัวเอง ด้วยการลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ ทั้งการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานหวาน-มัน-เค็ม รวมถึงการส่งเสริมให้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ
 
   แต่ก่อนที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพได้ สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกก็คือการทำให้ประชาชนมีความรู้และความตระหนักถึงโทษทัณฑ์และความสำคัญในการเอาชนะ NCDs ซึ่งตรงกับหลักการของ WHO ที่ระบุว่า การพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ถือเป็นการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในระดับบุคคลในการธำรงรักษาสุขภาพตนเองอย่างยั่งยืน
 
   “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” จึงเปรียบดั่งการ “ติดอาวุธทางปัญญา” เพื่อต่อสู้กับมัจจุราช NCDs สำหรับความรอบรู้ด้านสุขภาพนั้น อาจถูกเรียกขานในอีกหลายชื่อ เช่น ความแตกฉานด้านสุขภาพ การรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ความฉลาดทางสุขภาวะ ซึ่งแท้จริงแล้ว หมายถึงทักษะและความสามารถของคน กลุ่มคน ชุมชน หรือประชากรโดยรวม ในการค้นหาคำตอบที่ต้องการ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่จำเป็น การตรวจสอบและทำความเข้าใจข้อมูลที่ได้รับมา และใช้ข้อมูลเหล่านั้นแปลงไปสู่การปฏิบัติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมได้
 
   ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 ได้มีการบรรจุระเบียบวาระ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs)” เข้าสู่การพิจารณา เพื่อหาฉันทมติในการขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดจากภัยคุกคามที่ชื่อว่า “กลุ่มโรคไม่ติดต่อ” ต่อไป
 
   
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา