ผนึกแผนโลก-ระดมแผนชาติ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพคนไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลเพียงชั่วพริบตาในยุคที่เข็มนาฬิกาเดินช้ากว่าสัญญาณดิจิทัล มีข้อมูลสุขภาพจำนวนมากถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทาง ในแต่ละวันหน้าบนเฟซบุ๊กหรือแชทไลน์เกลื่อนกลาดไปด้วยข้อมูลทั้งที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และที่คลาดเคลื่อนและเป็นเท็จ ข้อมูลเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อขยายวงออกไปเรื่อยๆ
 
   ที่น่ากังวลก็คือ ข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนและเป็นเท็จเหล่านั้น กลับมีพลังมากพอจะสร้างความเชื่อ โน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิด และชักนำให้ใครหลายคนเผชิญหน้ากับความเสี่ยงด้านสุขภาพได้โดยไม่ยาก
 
   สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ทุกประเทศจึงเห็นพ้องต้องกันว่าการเสริมสร้าง “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” (Health literacy) เป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วน
 
   “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังให้น้ำหนักความสำคัญ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ นานาประเทศต่างระส่ำระสายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ทะยานเพิ่มสูงขึ้นอย่างแสนสาหัส ซึ่งหากประชาชนได้รับ “ภูมิคุ้มกัน” ผ่านการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ย่อมหมายถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้รอดพ้นจากพฤติกรรมเสี่ยง
 
   อย่างไรก็ดี การเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจะไม่มุ่งเน้นให้ความรู้กับประชาชนแบบเดิมๆ หากแต่พุ่งเป้าไปที่ “การพัฒนาทักษะและศักยภาพ” ของคนและชุมชนให้สามารถ “ค้นหาคำตอบ” ตลอดจนสามารถ “เข้าถึงแหล่งข้อมูล” และ “ตรวจสอบ” ข้อมูลที่ได้รับมา เพื่อประกอบการตัดสินใจในการนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
 
   สาระสำคัญตามมุมมองของ องค์การอนามัยโลก (WHO) การพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมี “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ถือเป็นการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในระดับบุคคลในการธำรงรักษาสุขภาพตนเองอย่างยั่งยืน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพของตนเองร่วมกับผู้ให้บริการได้ รวมถึงสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และสามารถกำหนดเป้าประสงค์ในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ที่เป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลกอยู่ในขณะนี้
 
   จากกรอบคิดดังกล่าว จึงถูกนำมาออกแบบเป็นนโยบายภายในประเทศ ภายใต้ แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปความรอบรู้และการสื่อสารสุขภาพเอาไว้อย่างชัดเจน โดยวาง 3 เป้าหมายหลักในระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 1.ประชาชนไทยทุกคนมีทักษะในการเข้าถึงและประมวลข้อมูลด้านสุขภาพ 2.สังคมไทยเป็นสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพ 3.ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง เข้าใจ ประเมิน และปรับใช้ข้อมูลและบริการต่างๆ ในสังคม เพื่อตัดสินใจดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
 
   สอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้มีการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย โดยมีการจัดตั้ง “สำนักงานโครงการขับเคลื่อน กรมอนามัย 4.0 เพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน” ขึ้นมาทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง
 
   รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งกำหนดให้ประเด็น “การรู้เท่าทันด้านสุขภาพ” เป็น 1 ใน 7 ประเด็นสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และบรรจุระเบียบวาระ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs)” เข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 อีกด้วย
 
   ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงขนาดของปัญหา ความจำเป็นเร่งด่วน และการเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนเรื่อง Health literacy จากนโยบายระดับโลกมาสู่รูปธรรมในประเทศอย่างชัดเจน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา