ชู ‘Health Literacy’ เป็นวาระแห่งชาติ ภาคีเห็นพ้องคัดกรอง ‘ข้อมูลสุขภาพ’ ลดความสับสน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ทุกๆ นโยบายสาธารณะที่ประกาศใช้เป็นเข็มทิศขับเคลื่อนสังคม หรือใช้เพื่อรับมือกับมหันตภัยในหลากหลายรูปแบบ ย่อมเชื่อมโยงกับชีวิตคนทุกคนไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง การชักชวนผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมออกแบบอนาคตของตัวเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการจัดทำนโยบาย
 
   การเปิดพื้นที่กลางเพื่อ “รับฟังความคิดเห็น” นับเป็นหนึ่งในกระบวนการมีส่วนร่วมที่จับต้องได้ และเป็นสาระสำคัญที่ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยึดถือเป็นหัวใจหลักในการปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการดำเนินงาน ซึ่งในระเบียบวาระ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs)” ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 ก็ได้จัดให้มีการประชุมผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ รวมถึงประชาสังคม โดยทั้งหมดมีความมุ่งหวังและมีหมุดหมายเดียวกันคือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อหรือ NCDs จากรากฐานที่แข็งแกร่ง ด้วยการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน
 
   เริ่มจาก พญ.ประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เสนอความคิดเห็นพร้อมแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจว่า
 
   “ควรนำ Health Literacy มาใช้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) เพื่อป้องกันและแก้ไขโรคไม่ติดต่อทั้งระบบ แต่จำเป็นต้องปรับระดับของ Health Literacy ให้เหมาะสมกับผู้เข้าถึงในแต่ละกลุ่ม ที่สำคัญควรประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) เพื่อพัฒนา application เป็นเครื่องมืออย่างง่ายให้กับ อสม. และควรดึงกลุ่มสื่อมาช่วยสื่อสารข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองแล้วให้กับประชาชนและสังคม”
 
   อีกหนึ่งผู้แทนจากภาครัฐอย่าง สายชล แซ่ลี้ กระทรวงดีอี ระบุว่า ปัจจุบันมีข้อมูลทางสุขภาพที่ค่อนข้างสับสน ตัวอย่างเช่น เดิมให้คนหลีกเลี่ยงน้ำมันหมูไปกินน้ำมันพืช แต่ปัจจุบันกลับให้กลับมากินน้ำมันหมูแทน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรเป็นเจ้าภาพบูรณาการข้อมูลข้อเท็จจริงด้านสุขภาพให้อยู่ที่เดียว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
 
   จุฬาดา สุขุมาลวรรณ์ ตัวแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอว่า ควรยกระดับ Health Literacy ให้เป็นประเด็นระดับชาติ หรือวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับเรื่องเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งกลไกระดับชาติขึ้นมาขับเคลื่อน
 
   มุมมองจากนักบริหาร Content อย่าง กฤษณา เบ็ญนุกูล เว็บไซต์กระปุกดอทคอม อธิบายว่า จากประสบการณ์การทำเว็บมา 15 ปี และมีผู้เข้าชมเว็บไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านราย พบว่าคนส่วนใหญ่จะเข้ามาดูข้อมูลสุขภาพใน 2 ลักษณะ คือ 1.ป่วยแล้วจึงเข้ามาดู 2.มีความเสี่ยงถึงเข้ามาดู โดยสิ่งสำคัญของการสื่อสารคือจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าคนเหล่านั้นต้องการดูอะไร ซึ่งทางกระปุกใช้วิธี monitor keyword ทุกวันว่าผู้อ่าน search คำว่าอะไรบ้าง และในอนาคตกระปุกยินดีนำข้อมูลสุขภาพและพฤติกรรมผู้ใช้โซเชียลมีเดียมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้าง Health Literacy ให้กับประชาชน
 
   ทั้งนี้ หัวใจสำคัญสำหรับการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันคือ ต้องดำเนินการในภาพใหญ่ที่เชื่อมโยงกันในระดับนโยบาย (Policy Level) เพื่อให้บรรลุ 3 เป้าหมาย ได้แก่ Active Citizen, Active Community และ Active Society มีกลุ่มสื่อ กลุ่มภาคอุตสาหกรรม-เอกชน กลุ่มบริหารในระดับพื้นที่ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสุขภาพ เป็นกำลังสำคัญ โดยข้อเสนอที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นจะถูกนำไปปรับปรุงร่างเอกสารหลักและร่างมติ เพื่อนำเข้าสู่งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา