- 30 views
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจับตาสถานการณ์สุขภาพคนไทยปี ๒๕๖๐ หวังแก้ปัญหาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs พบยังมีทุกขภาวะที่ต้องเร่งจัดการ ทั้งมารดาเสียชีวิตหลังคลอด ‘โรคไม่ติดต่อ’ รุมเร้าตั้งแต่วัยเด็กเยาวชน และสภาพสิ่งแวดล้อมแย่ลง พร้อมลงพื้นที่เรียนรู้ ‘เชียงรายโมเดล’ ใช้ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ หนุนชุมชนรักษา ฟื้นฟู พัฒนาภูมิปัญญาหมอเมืองล้านนาและเมืองสมุนไพร พร้อมขยายเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุ ๘ จังหวัดภาคเหนือ
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๐ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ ห้องประชุมวนาสรรค์ วนาศรมรีสอร์ท มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพคนไทยในปี ๒๕๖๐ โดยเชื่อมโยงตัวชี้วัดสุขภาพคนไทยกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาสากลภายใต้การนำขององค์การสหประชาชาติ การรายงานในที่ประชุมวันนี้ เป็นการหยิบยกตัวชี้วัดสุขภาพที่ส่วนใหญ่ปรากฎในเป้าหมายย่อยที่ ๓ (SDG3) ที่กำหนดว่า “ชีวิตที่มีสุขภาพดีและสุขภาวะของทุกคนในทุกช่วงวัย”
“แนวโน้มสุขภาพของคนไทยปัจจุบัน มีทั้งดีขึ้นและยังน่าห่วง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะหลายเรื่องไม่สามารถใช้กฎหมายมาบังคับได้ ๑๐๐% อาทิ การสวมหมวกน็อกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน หลายพื้นที่สามารถดูแลด้านความปลอดภัยกันเองได้อย่างดี ซึ่งพื้นที่อื่นสามารถนำไปเป็นตัวอย่างได้ สิ่งสำคัญคือ หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องควรนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ เพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหาที่กระทบกับสุขภาพคนไทยต่อไป”
รายงานสุขภาพคนไทยมีการจัดทำขึ้นทุกปี ฉบับล่าสุด “รายงานสุขภาพคนไทย ๒๕๖๐: เสริมพลังกลุ่มเปราะบาง สร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน” โดยมีสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานหลัก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมสนับสนุน สะท้อนให้เห็นภาพรวมสถานการณ์ทางสุขภาพนับตั้งแต่เกิดจนตาย และสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรายงานสุขภาพคนไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดทำรายงาน ก็เพื่อนำข้อมูลรายงานต่อสาธารณะ และให้ผู้กำหนดนโยบายนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจ
โดยพบสถานการณ์ที่น่าสนใจเป็นข้อมูลการเสียชีวิตของมารดาไทย เฉลี่ยที่ ๒๔.๖ รายต่อการเกิดแสนคน ซึ่งมีสาเหตุจากการตายที่ป้องกันได้ คิดเป็นร้อยละ ๕๖ ของการตายของมารดาไทยในปี ๒๕๕๖ เช่น สาเหตุจากการตกเลือด ความดันโลหิตสูง ฯลฯ โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานตามลำดับ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดและอายุต่ำกว่า ๕ ปีของไทยลดลงต่อเนื่องและดีกว่าเป้าหมายของ SDGs อยู่มาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่า อัตราทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง ๖ เดือนแรก ประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ ๑๕.๑% ต่ำกว่าเวียดนาม ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย และกัมพูชา
ปัญหาของโรคติดต่อในเขตร้อนที่เพิ่มขึ้นและยังต้องการระบบจัดการดูแลรักษา คือ วัณโรค ซึ่งในปี ๒๕๕๘ มีผู้ป่วยวัณโรคมาขึ้นทะเบียนรักษาเพียง ๖๒,๑๕๔ คน ขณะที่ยังมีอีกกว่า ๕๐,๐๐๐ คนที่ยังไม่ได้รับการรักษา ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ในอนาคตหากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ ส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ไข้เลือดออกยังมีแนวโน้มอัตราป่วยขึ้น-ลงสลับเป็นรายปีและยังสูงกว่าเป้าหมาย SDGs
ปัญหาจากพฤติกรรมที่สำคัญ ได้แก่ โรคไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน โรคอ้วน ในคนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ การบริโภคผัก ผลไม้ และมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี ๒๕๕๗ มีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนโดยใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะถึงร้อยละ ๖๖ โดยมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมึนเมาก่อนขี่จักรยานยนต์ ร้อยละ ๑๔.๔ ปัญหาอุบัติเหตุเชิงระบบคือ ในช่วงเทศกาล คนไทยเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางและเครื่องบิน ซึ่งเป็นพาหนะที่มีความปลอดภัยสูงกว่าการเดินทางทางถนน เพียงร้อยละ ๓.๖ เท่านั้น
ข้อมูลในช่วงปี ๒๕๓๑-๒๕๓๖ ที่น่าสนใจ คือ อัตราร้อยละของครัวเรือนที่ตกอยู่ในภาวะยากจน/ล้มละลาย จากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพมีแนวโน้มลดลง และแนวโน้มชัดเจนมากหลังจากเริ่มดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี ๒๕๔๔ และมีข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อหัวของ ๓ ระบบประกันสุขภาพในปี ๒๕๕๘ ว่า ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลราชการมีค่าใช้จ่ายต่อหัวถึง ๑๒,๐๐๐ บาท ขณะที่ระบบประกันสังคมมีค่าใช้จ่าย ๓,๑๔๕ บาท ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดที่ ๒,๘๙๕ บาท
รายงานฉบับนี้ ยังระบุถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาวะ พบว่ายังน่าเป็นห่วง เพราะหลายจังหวัดมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองเกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เช่น สระบุรี, กทม., ราชบุรี และระยอง เป็นต้น ขณะที่ปริมาณขยะที่ไม่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยตลอด เช่นเดียวกับปริมาณของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้จะลดลงในปี ๒๕๕๗ แต่ก็กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกในปีถัดมา
ในบ่ายวันเดียวกัน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งมีความโดดเด่นในการหนุนเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุทั้งกายและจิต โดยเป็นพื้นที่ที่มีธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศ มีโรงเรียนผู้สูงอายุตั้งอยู่ที่วัดหัวฝาย ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐ เช่น พัฒนาสังคมและโรงพยาบาลพาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และป้องกันโรคซึมเศร้า มีชีวิตอย่างมีคุณค่า ปัจจุบันสามารถขยายเครือข่ายผู้สูงอายุในเชียงรายได้ถึง ๘๗ กลุ่ม และจะขยายไปยังกลุ่มจังหวัดล้านนาอื่นๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่นำมาเรียนรู้คือ การพัฒนาภูมิปัญญาหมอเมืองล้านนา ที่พัฒนาจากการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย มุ่งสืบสานภูมิปัญญา พัฒนาตำรับยาสมุนไพร และให้บริการสุขภาพด้วยระบบการแพทย์พื้นบ้านล้านนาในระบบบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลพาน จนได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องศึกษารูปแบบการจัดการระบบภูมิปัญญาโดยพื้นที่เองของคณะกรรมการภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพระดับชาติ และเป็นรูปแบบ เชียงรายโมเดล ที่ปัจจุบันมีสภาหมอเมืองล้านนาและเครือข่ายหมอเมืองใน ๑๘ อำเภอ
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย กล่าวว่า เชียงรายนับเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ดีในการดูแลผู้สูงอายุและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะคนในชุมชนทั้งหมดมีความร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ชุมชนต่างๆ จะทำได้หรือไม่ อยู่ที่ความเข้มแข็งของชุมชนและผู้นำชุมชน ตลอดจนต้องใช้ใจร่วมกันพัฒนามากกว่าใช้เงินนำ
สำหรับรัฐบาลมีนโยบายหลายประการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในปี ๒๕๖๔ ที่ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ ๒๐ โดยงานหลักจะอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีกรมกิจการผู้สูงอายุที่มีภารกิจโดยตรง แต่ทุกชุมชนทุกพื้นที่ต้องช่วยกันเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม แต่ละคนต้องเตรียมการเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่เป็นวัยหนุ่มสาว เพราะนอกจากต้องมีความแข็งแรงทางกายและใจแล้ว ยังต้องมีทุนสะสมไว้ใช้ด้วย การมาทำอะไรเมื่อสูงวัยแล้วอาจสายเกินไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143