- 20 views
คสช. เคาะเริ่มงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชนทันที ตั้งประธานกรรมการสนับสนุนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (ชั่วคราว) เดินหน้างานในพื้นที่ที่พร้อม ขณะรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ พร้อมเห็นชอบให้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนใหม่
เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๙ ในการประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ โดยมี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐
การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้เริ่มเดินหน้างานเขตสุขภาพเพื่อประชาชนไปพร้อมๆ กับการเสนอ ร่าง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต่อคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในขณะนี้ผู้แทนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงผู้แทนภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ ทุกฝ่ายมีความพร้อมและเห็นประโยชน์ของการมีเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เพื่อบูรณาการการทำงานสนับสนุนการดำเนินงานสนับสนุนระบบสุขภาพตามความจำเป็นของพื้นที่ในประเด็นที่ต้องการพลังในระดับเขต รวมถึงยังขยายขอบเขตของการจัดการระบบสุขภาพไปกว้างกว่าเรื่องการรักษาพยาบาลด้วย เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งต้องการพลังในการจัดการร่วมกัน
พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะกรรมการสนับสนุนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (ชั่วคราว) โดยมี นายเจษฎา มิ่งสมร อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติจากผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเป็นประธานกรรมการ และมีเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ไปจนกว่า ร่าง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะประกาศใช้
“ขณะนี้ทุกหน่วยงานเห็นชอบกับแนวทางเขตสุขภาพเพื่อประชาชนแล้ว และมั่นใจว่าจะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพที่ยึดโยงการทำงานของหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการแก้ปัญหา ให้ตรงตามความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะช่วยหนุนเสริมการทำงานของเขตบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข และอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต ของ สปสช.ได้อย่างดี การดำเนินงานของกลไกนี้ต้องใช้หลักการบูรณาการบนบทบาทหน้าที่และการทำงานของหน่วยงาน องค์กรต่างๆอย่างแท้จริง เพราะจะไม่มีการตั้งโครงสร้างหน่วยงานใหม่ และไม่ของบประมาณในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม”
ทั้งนี้ คณะกรรมการสนับสนุนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (ชั่วคราว) จะร่างหลักเกณฑ์วิธีการสรรหาคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และสรรหาคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (ชั่วคราว) ในพื้นที่ที่มีความพร้อม และจะประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ พร้อมสรุปบทเรียนเสนอแนะการพัฒนาระบบงานเมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ประกาศใช้
พลเรือเอกณรงค์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้มีพื้นที่ที่มีความพร้อมของหน่วยงานหลักๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สสส. มีองค์กรภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง และจะสามารถเริ่มจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนได้ก่อน คือ พื้นที่เขต ๒ ที่ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์”
สำหรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ขณะนี้ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และได้ปรับปรุงร่างระเบียบฯ ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
พลเรือเอกณรงค์ ยังกล่าวถึงอีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนต่อไป ต่อจาก นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ตามที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอแล้ว โดยนายแพทย์พลเดชจะเริ่มการทำงานในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ นี้
ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้รับทราบผลการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ ภายใต้ประเด็นหลัก “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๒,๕๐๐ คน มีฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกันจำนวน ๕ มติ ได้แก่ ๑.สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา ๒.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ๓.ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ๔.นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และ ๕.วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง ๕ เรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143