ชูข้อเสนอยกร่างกฎหมายประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ เน้นทุกนโยบายต้องห่วงใยสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ๑๓ เขตทั่วประเทศ เตรียมเปิดเวที Kick off เดือน มิ.ย.นี้ เดินหน้ากลไกใหม่ บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนในเขตพื้นที่รวมถึงให้ความเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๕๘ กำหนดให้จัดทำกฎหมายรองรับภายใน ๒๔๐ วัน เร่งเสนอให้มีกลไกร่วม ๕ กระทรวงหลักหาคำตอบด้วยกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมว่า อนาคตการประเมินผลกระทบทางสุขภาพควรอยู่แยก หรือรวมกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
 
   เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๐ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ประธานกรรมการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ๑๓ เขตทั่วประเทศ ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ผ่านการสรรหาโดย คณะกรรมการสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ที่คณะกรรมการฯแต่งตั้ง มีนายแพทย์ทวีเกียรติ บุญยะไพศาลเจริญ เป็นประธาน รายชื่อ กขป. ประกอบด้วย กรรมการจาก ๓ ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ๑. กลุ่มผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่หลากหลาย ทั้งกระทรวง หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒.กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ ได้แก่ สภาวิชาชีพด้านสุขภาพทั้ง ๙ สภา ผู้แทนสถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรสาธารณสุข ๓.กลุ่มภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรด้านต่างๆ สื่อมวลชน อสม. สถานพยาบาลเอกชน ร้านยา สภาอุตสาหกรรม หอการค้า
 
   หลังจากเห็นชอบรายชื่อทั้งหมดแล้ว จะมีคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนทั้ง ๑๓ เขตต่อไป ทั้งนี้ สช. ร่วมกับภาคีหลักด้านสุขภาพทั้งกระทรวงสาธารณสุข สปสช. สสส. รวมทั้ง กทม. กำหนดจัด เวที Kick off เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ในวันที่ ๗ มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นนทบุรี เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับ กขป. และฝ่ายเลขานุการร่วมทุกเขตพื้นที่ เพื่อให้เริ่มต้นเดินหน้าภารกิจร่วม กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์การทำงานเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
 
   ในช่วงท้าย ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายประเด็นการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมาตรา ๕๘ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ กำหนดให้ต้องจัดทำกฎหมายรองรับภายใน ๒๔๐ วัน ข้อเสนอนี้จัดทำคณะทำงานพัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญ ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑. ข้อเสนอต่อการกำหนดนิยามสำคัญในร่างกฎหมายรองรับมาตรา ๕๘ ประกอบด้วย คำว่า “การดำเนินการใดของรัฐ หรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ” ที่เสนอให้ต้องกำหนดขอบเขตคำนี้ ให้ครอบคลุม ชัดเจนทั้งระดับนโยบายและระดับโครงการ กิจกรรม ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฯ ปี ๒๕๕๐ ที่มาตรา ๖๗ ระบุเพียงระดับโครงการและกิจกรรมเท่านั้น และต้องให้ครอบคลุมการดำเนินงานของทั้งหน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง สอดคล้องตาม แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health In All Policies) และคำว่า “การเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหาย” ที่เสนอให้กำหนดระบบ กลไก และมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน และมีมาตรการการฟื้นฟูควบคู่กับการเยียวยาด้วย โดยใช้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษ (ก่อความเสียหาย) เป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle : PPP)
 
   ส่วนที่ ๒. ข้อเสนอต่อการดำเนินงาน ประกอบด้วย ๖ แนวทางหลัก คือ ๑.เร่งจัดตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการจาก ๕ กระทรวงหลักที่ครม.มอบหมาย เพื่อศึกษาว่า ร่างกฎหมายตามมาตรา ๕๘ นั้น ควรเป็นกฎหมายกลางที่พัฒนาขึ้นใหม่ในรูปแบบใด การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ควรอยู่แยก หรือรวมกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เช่นปัจจุบันนี้ สิ่งสำคัญคือการพัฒนา (ร่าง) กฎหมายรองรับมาตรา ๕๘ นี้ ควรใช้การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (4PW)
 
   ๒.จัดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตลอดกระบวนการ โดยเสนอให้นำรูปแบบสมัชชาสุขภาพไปปรับใช้ ๓.จัดทำระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เพื่อสนับสนุนข้อมูลการประเมินผลกระทบที่มีความต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน และเพียงพอ ตามหลักการทำงานบนฐานความรู้และหลักฐาน (Evidence based) ๔.ให้มีกลไกที่มีความเป็นอิสระที่มีองค์ประกอบทางวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อให้ข้อคิดเห็นประกอบการพิจารณาดำเนินการ หรืออนุมัติ อนุญาต
 
   ๕.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพแก่หน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ ๖.สนับสนุนชุมชนและภาคประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบให้สามารถจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment : CHIA) ได้เอง เพื่อเป็นข้อมูลของชุมชน โดยชุมชน
 
   โดยข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ สช. จะรับไปส่งต่อและสื่อสารไปยังหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎหมายตามมาตรา ๕๘ ของรัฐธรรมนูญฯ ต่อไป
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ