เตรียมเสนอ ยุทธศาสตร์ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ เข้า ครม. ใช้เป็นร่มใหญ่งานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เตรียมเสนอยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วๆนี้ เพื่อสานต่องานภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อยอดยกระดับการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านและแพทย์ทางเลือก มุ่งสู่การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ
 
   การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสานใจ ๑ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐ ได้พิจารณา ร่าง ยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๖๔) ตามที่คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน นำเสนอ
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๐ –๒๕๕๔) และแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ซึ่งมีรูปธรรมความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯหลายเรื่อง เช่น การเกิดโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบ การประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.๒๕๕๖ การจัดตั้งกองทุนการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งได้ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา จากการผลิตยาจากสมุนไพรภายในประเทศ สูงกว่านำเข้าถึง ๗ เท่า
 
   ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงเห็นความสำคัญของการมียุทธศาสตร์ชาติฯ และได้ให้ความเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๖๔) โดยจะนำเสนอยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ นำไปใช้เป็นร่มใหญ่ ต่อยอดการทำงานให้เกิดความต่อเนื่อง โดยใช้เป็นแนวทางและเป้าหมายในการปฏิบัติงานอีก ๕ ปีข้างหน้า
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ ๓ ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ ๓ ประการ ด้วยคำย่อ WIC คือ มุ่งเน้นสร้างภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ให้เข้มแข็งด้วยองค์ความรู้ (Wisdom) การบูรณาการระบบบริการ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก และระบบยาสมุนไพรกับระบบการแพทย์อื่นๆ (Integration of Health service systems) และเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชน บุคลากร และเครือข่าย (Capacity Building) โดยมีมาตรการรองรับ ทั้งด้านวิชาการ ด้านนโยบายและกฎหมาย ด้านการพัฒนาขีดความสามารถ ด้านการเงิน และด้านระบบและกลไก รวมถึงยังได้กำหนดงบประมาณ ตัวชี้วัด และหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ซึ่งสามารถนำยุทธศาสตร์ชาติฯไปใช้อ้างอิง เป็นกรอบและทิศทางในการขับเคลื่อนภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทร่วมกัน
 
   “เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ฯ คือ ประชาชนมีสิทธิเลือกใช้และเข้าถึงระบบการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ประสิทธิผล ปลอดภัยและใช้อย่างสมเหตุสมผล ขณะเดียวกันภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย ยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม เป็นฐานในการสร้างเสริมสุขภาพ และการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศต่อไป ”
 
   สำหรับกระบวนการยกร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ ๓ นั้น คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๖๔) ที่มีนายแพทย์เปรม ชินวันทนานนท์ เป็นประธาน ได้ศึกษาทบทวนผลการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติฯ ทั้ง ๒ ฉบับที่ผ่านมา นำมาวิเคราะห์ผลสำเร็จ และปัญหาอุปสรรคก่อนยกร่างยุทธศาสตร์ และมีกระบวนการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ รวมถึงเครือข่ายหมอพื้นบ้าน และพิจารณาถึงความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๗๙) การพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๙ หมวดว่าด้วยการส่งเสริม สนับสนุน การใช้และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่นด้วย
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ