- 173 views
๕ องค์กรจับมือ “Kick off เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” นวัตกรรมการทำงานบูรณาการแบบใหม่ ขับเคลื่อนงานสุขภาวะโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ก้าวข้ามความขัดแย้ง
วันนี้ (๗ มิ.ย. ๒๕๖๐) ที่ศูนย์วายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ๕ องค์กรหลัก ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดงาน “Kick off เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เพื่อขับเคลื่อนการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจาก ๑๓ เขตทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า ๖๐๐ คน
พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Kick off เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ภายใต้หัวข้อ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน กลไกพัฒนาระบบสุขภาพระดับพื้นที่ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ” ว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชนถูกจัดตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่อเป็นกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพที่มองทุกมิติ ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา
เขตสุขภาพเพื่อประชาชนมีทั้งหมด ๑๓ เขต รวม กทม. แต่ละเขตมีองค์ประกอบของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ๔๕ คน มาจากหลากหลายอาชีพและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ องค์กรวิชาชีพ ภาคประชาสังคม และเอกชน เพื่อมาร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อบูรณาการการจัดการปัญหาสุขภาพของพื้นที่ตนเอง รวมถึงประสานงานกับเขตสุขภาพเพื่อประชาชนอื่นๆ เป็นการทำงานแบบเชื่อมโยงข้ามเขต โดยการดำเนินงานต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สุขภาพระดับชาติ เช่น ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และแผนพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการทำงานที่สำคัญของ กขป. จะเป็นการนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และเครือข่ายที่หลากหลายของกรรมการ มาช่วยกันกำหนดประเด็นด้านสุขภาพที่เป็นปัญหาในพื้นที่ที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกัน โดยบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ทั้งงบประมาณรัฐ หรือของเอกชนที่พร้อมมาเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“การทำงานของ กขป. ถือเป็นงานอาสา ที่ทุกคนต้องเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัวมาช่วยกันแก้ปัญหา โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
สำหรับการทำงานของ กขป. ในช่วงเริ่มต้น จำเป็นต้องศึกษากฎหมายและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงการค้นหาประเด็นด้านสุขภาพที่เป็นความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติขับเคลื่อนหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องยังไม่สามารถขับเคลื่อนลงสู่พื้นที่ได้ กขป. อาจเป็นเวทีการทำงานที่จะช่วยในการแปลงมติสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ
หลังจากนั้นได้มีการเสวนา “สร้างพลังบูรณาการอย่างไร ผ่านกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” โดย แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ผศ.ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กขป. เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มประเด็นที่มีผลต่อสุขภาพให้รอบด้านมากขึ้น ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม ความเป็นชุมชน ภัยพิบัติ และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นกลไกใหม่ที่มองมิติด้านสุขภาพในมุมมองที่กว้างขึ้น ทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ กขป. ไม่ได้ตั้งต้นการทำงานจากศูนย์ เช่น อาจพิจารณาประเด็นด้านสุขภาพที่สมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้คิดร่วมกันและเห็นชอบเป็นมติออกมาแล้วถึง ๒๕๐ มติ หรือประเด็นสุขภาพอื่นๆ บูรณาการการทำงานด้วยทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งทุนของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น สสส. ที่มีตำบลสุขภาวะกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง กองทุนสุขภาพตำบลที่อยู่ในความดูแลของ สปสช. อีกกว่า ๘,๐๐๐ กองทุน ด้านกระทรวงสาธารณสุขกำลังขับเคลื่อนกลไกระบบสุขภาพอำเภอ โดย สช. สนับสนุนการเชื่อมโยงและถักทอเครือข่ายด้านการพัฒนานโยบายสุขภาพที่มีกว่า ๘๒ เครือข่ายทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม กขป. ไม่ใช่หน่วยงานดำเนินงาน แต่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่มีทุนทรัพยากร คน งบ เครือข่าย ความรู้ ในมืออยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมาจับมือกันเพื่อระดมความคิดหาจุดคานงัดที่จะมาช่วยแก้ประเด็นด้านสุขภาพของพื้นที่นั้นๆ
“โครงสร้างของ กขป. ที่มีกรรมการมาจากตัวแทนทุกภาคส่วน เหมือนเป็นการทำงานแบบสภา แต่เวทีนี้ไม่ใช่เวทีต่อสู้ แย่งชิง และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง แต่เป็นสภาของภาคพลเมืองที่ทุกภาคส่วนมาประสาน สนับสนุนและช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ กขป. นับเป็นอีกกลไกในการสร้างสันติวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น”
พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นการทำงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐานที่ถูกผลักดันมาตลอด ๓๐ ปี เพราะกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญงานส่งเสริมป้องกันมากกว่าการรักษา เพื่อป้องกันผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง หรือ “สร้างนำซ่อม” ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน
โดยขณะนี้ในระดับนโยบายให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงพื้นที่ และประสาน รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานและองค์กรมากขึ้น ซึ่งในระดับรัฐบาลได้กระจายงบประมาณลงระดับจังหวัดและพื้นที่มากขึ้น ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับ สสส., สปสช.และ สช. อย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ยังมีกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ที่สามารถเสริมการทำงานของเขตสุขภาพเพื่อประชาชนได้เป็นอย่างดี อาทิ เครือข่ายสุขภาพอำเภอที่มีนายอำเภอเป็นประธาน และมีทุกภาคส่วนร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ๗๐ เครือข่าย และจะมีเครือข่ายครบทุกอำเภอในอนาคต ดังนั้นเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจะสามารถตอบคำถามได้ทุกเรื่องหลังจากนี้ไม่เฉพาะเรื่องสุขภาพเท่านั้น
“เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง และมาปรับทัศนคติมองสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเกิดประโยชน์ ทำทุกอย่างเพื่อสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไร ทุกอย่างจะง่ายขึ้น
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าคำถามตั้งต้นของ กขป. คือการวางภาพพึงประสงค์ของสุขภาวะในพื้นที่ และทุกภาคส่วนมารับผิดชอบและขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ถือเป็นการบูรณาการแนวราบที่มีสหวิชาชีพมาทำงานร่วมกัน โดยมีนโยบายมาเสริม และใช้ทุนในพื้นที่ ซึ่ง สปสช. เองก็มีกองทุนสุขภาพตำบลกว่า ๘,๐๐๐ กองทุนในตำบลต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของ กขป. ได้
“กขป. เป็นกลไกเสริม เป็นนวัตกรรมการทำงานแบบใหม่ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศที่นับวันจะซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่”
ผศ.ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. ในฐานะร่วมเป็นกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนในทุกเขตและเป็นเลขานุการร่วมของ กขป. จะใช้บทบาทนี้สนับสนุนให้เกิดการสร้างสุขภาพในมิติพฤติกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย สสส. จะใช้พลังทรัพยากรที่มีอยู่ซึ่งสะสมมากว่า 10 กว่าปี ทั้งความรู้ ภาคีเครือข่าย และการทำงานในลักษณะถักทอประสานกับเครือข่ายทุกภาคส่วนต่างๆ มาร่วมสร้างเป้าหมายและทิศทางร่วมกัน เนื่องจาก สสส. ไม่ใช่หน่วยงานบริการสุขภาพ แต่เป็นหน่วยสนับสนุนที่คล่องตัวและสนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาสังคม วิชาการ เอกชน และภาครัฐหลายภาคส่วน พร้อมกับมีโครงสร้างแผนงานต่างๆ ภาคีเครือข่ายที่กระจายทุกพื้นที่ องค์ความรู้จากศูนย์วิชาการต่างๆ รวมถึงการทำงานในภาพรวมที่เป็นโจทย์ของทั้งประเทศที่พร้อมร่วมสนับสนุนต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143