- 26 views
เดินหน้ากระบวนการสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนทั่วประเทศ เริ่มคิกออฟจากผู้แทนสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข คาดได้รายชื่อ กขป. ทั้งคณะเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งได้ภายใน ๑๙ พ.ค. นี้ เตรียมเดินหน้าเคลื่อนงานปฏิรูประบบสุขภาพสู่มิติใหม่ พร้อมสานพลังบูรณาการทุกภาคส่วน
นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ ประธานกรรมการสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรรมการสรรหาฯ อยู่ระหว่างดำเนินการสรรหาผู้มีความเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ เขตทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยคาดว่าจะได้รายชื่อผู้มีความเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนทั้งหมด ภายในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ต่อไป
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) มีทั้งหมดมี ๔๕ คนต่อเขตพื้นที่ ยกเว้น กทม. มี ๔๖ คน ประกอบด้วยผู้แทนจาก ๓ ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ จำนวน ๑๗ คน ผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ จำนวน ๑๑ คน และภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อีกจำนวน ๑๗ คน
นพ.ทวีเกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหากรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ได้จัดให้มี “การประชุมเพื่อเลือกกันเองของผู้แทนสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็นกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” โดยเปิดให้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพแต่ละสาขาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบสุขภาพในเขตที่เสนอตัวเป็นผู้แทน และความคาดหวังที่จะทำงานในบทบาทกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน โดยมี ๑๐ เขต เลือกตัวแทนได้ ๓ คนต่อเขต ส่วนอีก ๓ เขต เลือกตัวแทนได้ ๒ คนต่อเขต จากนั้นมีการลงคะแนนคัดเลือก กระทั่งได้กรรมการในส่วนของผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว
ในลำดับถัดไป จะมีการคัดเลือกตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่อให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบที่กำหนดไว้ต่อไป
เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นกลไกใหม่ในการปฏิรูประบบสุขภาพ มุ่งเน้นบูรณาการภารกิจการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน และตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนตามบริบทในแต่ละเขตพื้นที่ โดย กขป. กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์พัฒนาระบบสุขภาพในเขตของตัวเอง พร้อมเชื่อมประสานงานกับภาครัฐ ไม่ได้เป็นเขตอิสระ แต่เป็นการนำนโยบายด้านสุขภาพมาปรับให้เข้ากับบริบทในท้องถิ่น
“ระบบสุขภาพในปัจจุบันมีความซับซ้อน การแก้ไขด้วยบริการทางการแพทย์และสาธาณสุขทำได้เพียง ๒๐% เท่านั้น ซึ่งต้องมีการดำเนินการในส่วนปัจจัยกำหนดสุขภาพอื่นๆ ไปพร้อมกันจึงจะสำเร็จ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของบุคคล ต้องอาศัยองค์กรวิชาชีพต่างๆ และภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมกันทำงาน เปิดช่องทางให้พื้นที่กำหนดประเด็นด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และแก้ไขโดยคนในพื้นที่เอง ซึ่ง กขป. ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเข้ามารองรับการทำงานรูปแบบใหม่ที่คิดและทำโดยคนที่เข้าใจในปัญหาของตัวเอง ช่วยให้หน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่อยู่แล้วไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะมีหลายภาคส่วนมาช่วยขับเคลื่อนให้กลไกการทำงานดีขึ้น”
ด้าน นายพชรวรรธน์ คงสัมฤทธิ์ นักกายภาพบำบัดชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว ในฐานะผู้แทนจากสภากายภาพบำบัด ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการ กขป. เขต ๖ กล่าวว่า การทำงานในรูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนมีความสำคัญ เพราะปัจจุบันพื้นที่ต่างๆ มีบริบท ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต แตกต่างกันไป ไม่สามารถจัดบริการด้านสุขภาพแบบเดียวกัน และใช้กับทุกพื้นที่ได้ อีกทั้งไม่สามารถสั่งจากส่วนกลางเช่นเดิม เพราะอาจไม่ได้เข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริง ยกตัวอย่าง จังหวัดสระแก้ว อยู่ในเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตที่ ๖ และเป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากแรงงานต่างชาติจำนวนมากแล้ว โรคภัยบางอย่างซึ่งพื้นที่อื่นไม่ปรากฎ แต่กลับพบที่จังหวัดนี้ เช่น โรคเท้าช้าง มีพาหะนำโรคคือยุง จำเป็นต้องอาศัยการแก้ปัญหาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ จึงจะสำเร็จ
“ส่วนตัวเชื่อว่าจะทำงานกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ อย่างได้ผล เพราะมีประสบการณ์งานด้านสังคมในพื้นที่ควบคู่การทำงานหลักมาตลอด และยึดพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการทำงาน นั่นคือผลประโยชน์สุดท้ายต้องไปถึงประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด”
นางราณี ตาเดอินทร์ หัวหน้ากลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลยะลา ตัวแทนสภาวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการ กขป. เขต ๑๒ กล่าวว่า จังหวัดภาคใต้มีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก บางเรื่องจำเป็นต้องอาศัยกลไกการทำงานที่หลากหลายและใช้วิถีชุมชนเข้าช่วย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายๆ องค์กร อาทิ สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข มาสนับสนุนเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่
“อย่างปัญหาล่าสุดที่พบคือชาวบ้านไม่กล้าฉีดวัคซีนทุกชนิด เพราะกลัวไม่ ฮาลาล หรือขัดหลักศาสนา และบางเรื่องเป็นปัญหาเพราะขาดความรู้ความเข้าใจด้านสาธารณสุข อาทิ ปัญหาแม่เสียชีวิตหลังคลอดจำนวนมาก นอกจากนั้น คนในพื้นที่ยังมีปัญหายาเสพติด แม่วัยรุ่น ท้องก่อนวัย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องเข้าใจบริบทเฉพาะของพื้นที่และการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ซึ่งการทำงานในรูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นกลไกที่มารองรับได้ดีมาก”
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143