ห่วง ‘โรคเบาหวาน’ คุกคามสุขภาพคนไทย ผนึกภาคีด้านสุขภาพแก้ปัญหาทั้งระบบ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวที Health System Watch ผนึกทุกหน่วยงาน ร่วมมือขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ‘โรคเบาหวาน’ พบสถิติคนไทยป่วยพุ่งถึง ๔.๒ ล้านคน แต่กว่าครึ่งยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เสี่ยงเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนทั้งตา ไต และหัวใจอีกเพียบ พร้อมเสนอแนวทางต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผลักดันเป็นวาระสำคัญของประเทศ
 
   เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐ มีการจัดเวที “Health System Watch : เบาหวาน...ปัญหาที่ไม่เบาและไม่หวานสำหรับคนไทย” ในการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ ๑๘ “Inner Power, Together We Can” ๑๔-๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีบุคลากรในระบบสุขภาพจากทั่วประเทศเข้าร่วมฟังจำนวนมาก
 
   ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจำนวน ๔.๒ ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน ๗.๑% ของประชากร โดยในจำนวนนี้พบผู้ป่วยที่เข้าถึงระบบบริการรักษาเพียง ๖๒% หรือ ๒.๖ ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ถึง ๘๐% ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างเด็ดขาด
 
   ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาโรคเบาหวานไม่ได้อยู่แค่เรื่องภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเดียว แต่พบภาวะโรคแทรกซ้อน ทั้งโรคตา หัวใจ และโรคไต นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยตามข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าปี ๒๕๕๙ มีผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมากถึง ๑๔.๔ ล้านครั้ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก
 
   “ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันป้องกันปัญหาโรคเบาหวานได้ จะลดปัญหาการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นต้นทุน ภาระค่าใช้จ่าย และลดความแออัดของสถานพยาบาลได้อีกมาก”
 
   ดร.วีระศักดิ์ ระบุด้วยว่า การบริโภคน้ำตาลของคนไทยยังสูงมาก ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ ๒๖ ช้อนชา ขณะที่มาตรฐานแนะนำไม่ควรเกินวันละ ๖ ช้อนชา เครื่องดื่มรสหวานที่เป็นแหล่งน้ำตาลที่สำคัญมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยน้ำอัดลม ๑ กระป๋องก็มีระดับน้ำตาลถึง ๘.๕ ช้อนชาแล้ว อีกด้านหนึ่งคนไทยที่ออกกำลังกายทุกวันยังมีเพียง ๒๔% ขณะที่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นไทยใช้เวลาเนือยนิ่งอยู่หน้าจอทีวี มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ตต่างๆ มีสถิติสูงกว่า ๓.๑ ชั่วโมงต่อวัน
 
   “ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็มีแผนยุทธศาสตร์ แต่ก็ยังดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะมีปัจจัยทางสังคมอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น โรคเบาหวานจึงถือเป็นปัญหาที่ท้าทายของสังคมไทยในขณะนี้”
 
   ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า ปัจจัยทางสังคมมีส่วนสำคัญให้เกิดโรคเบาหวาน เช่น เพศ กรรมพันธุ์ อายุ แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์เสี่ยงๆ เช่น ทานหวาน มัน รวมถึงความเคร่งเครียดจากการทำงาน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็ทำให้แนวโน้มเกิดโรคนี้ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น การติดตามตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และคลอเรสเตอรอล รวมทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากดูแลทั้งหมดได้ดี โอกาสเกิดโรคเบาหวานจะน้อยลง
 
   นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาโรคเบาหวานคงไม่ใช่เรื่องของงบประมาณที่ทุ่มลงไปในระบบบริการทางสุขภาพเท่านั้น เพราะเพิ่มเท่าไหร่ก็คงไม่พอ หากไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาที่ดีพอ ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกัน เหมือนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ จนหลายเรื่องสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ
 
   นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า หากสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนและเบาหวานได้ จะประหยัดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษา นำไปแก้ปัญหาสังคมด้านอื่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือมีผู้ป่วยในระบบเพียง ๕๐% เท่านั้นที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จึงยังขาดข้อมูลอีกมาก
 
   “แม้จะขาดแคลนทรัพยากร แต่สิ่งสำคัญคือปัญญาต้องไม่ขาดแคลน เวลานี้เราต้องการความคิดแบบนอกกรอบ เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาโรคเบาหวาน เช่น จะทำให้เด็กๆ ออกจากห้องเพื่อวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายอย่างไร และจะให้เด็กๆ ช่วยมอนิเตอร์คนในครอบครัวตัวเองด้วยได้หรือไม่”
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวที Health System Watch เป็นการผนึกกำลังกันเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของประเทศร่วมกันเบื้องต้นมี ๖ องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ., สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อให้เกิดบูรณาการนโยบายร่วมกัน เพราะสาเหตุของปัญหาค่อนข้างกว้าง ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่การทำงานของกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังรวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
 
   “ประเด็นทางสุขภาพที่ Health System Watch ที่ครั้งนี้ได้เลือกเอาเรื่องเบาหวานมาพูดคุย นอกจากการสื่อสารต่อสาธารณะแล้ว ก็สามารถผลักดันนโยบายและมาตรการที่สำคัญเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการถึง ๗ กระทรวงร่วมด้วยได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายประเด็นได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว” นพ.พลเดช กล่าวย้ำ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ