พลิกโฉมมติสมัชชาฯ ด้านสาธารณสุข สานสัมพันธ์ ‘ผู้ป่วย-ญาติ-แพทย์' | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   กระบวนการทำงานที่เรียกว่า “ขาเคลื่อน” คือการผลักดันประเด็นที่เป็น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตลอด ๘ ปี มีรวมกันถึง ๖๙ มติ ให้เดินหน้าและบังเกิดผลเป็นรูปธรรม...นับเป็นหัวใจสำคัญ ของกระบวนการสมัชชาฯ
 
   ในจำนวน ๖๙ มติดังกล่าว มีประเด็นเกี่ยวข้องกับ การแพทย์และสาธารณสุข จำนวน ๓๓ มติ ถูกจัดแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ เพื่อโฟกัสการทำงานให้ชัดเจน ประกอบด้วย กลุ่ม ๑. มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ทำการขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม (๑.๑ มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ขับเคลื่อนแบบเร่งด่วน และ ๑.๒ มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ขับเคลื่อนต่อเนื่อง) กลุ่มที่ ๒ มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ติดตามและรายงานเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ และกลุ่ม ๓. มติที่มีการทบทวนมติใหม่ (Revisit) เพื่อปรับมติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
   น.พ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวในการประชุม เมื่อวันที่ ๒๙ ก.พ.ที่ผ่านมาว่า มติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันพิจารณาว่า ทำอย่างไร จึงจะขับเคลื่อนไปได้ ส่วนมติที่ขับเคลื่อนไปได้แล้ว ทางคณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่เพียงแค่ติดตามดูเท่านั้น
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็น “การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์” ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑ ขึ้นมา เพราะแม้จะมีกระบวนการปรับปรุงการให้บริการในระบบสาธารณสุข และสร้างกลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับบุคลากรสาธารณสุขแล้ว....แต่ปัญหาระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ยังคงมีอยู่ อีกทั้งสถานการณ์รุนแรงขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้ยังขาดเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน
 
   นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ สาธารณสุขนิเทศน์ เขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี รองประธานคณะอนุกรรมการฯ เล่าสถานการณ์ให้ฟังว่า นอกจากเกิดการทะเลาะวิวาทแล้ว ยังมีการทำร้ายร่างกาย รวมถึงการฟ้องร้อง และปัจจุบันมีการโพสต์ข้อความไม่พอใจต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว
 
   “ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผู้รับบริการ มักหาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องมาก่อน ส่งผลให้บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องตอบคำถามมากขึ้น และความคาดหวังของผู้รับบริการก็มีสูงขึ้นด้วย”
 
   นพ.พิศิษฐ์ เสนอว่า การแก้ปัญหาในประเด็นนี้ ไม่สามารถใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบ แต่ต้องผลักดันด้วยกลไกสมัชชาสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงจะมีประสิทธิภาพ
 
   ที่ประชุมมอบหมายให้ นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตัวแทนภาคประชาชน เป็นเจ้าภาพหลักในการวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจน เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนการทำงานต่อไป และนำมาหารือในที่ประชุมครั้งหน้า พร้อมกับดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมทำงานด้วย อาทิ ศูนย์สันติวิธี กระทรวงสาธารณสุข
 
   อีกมติ คือ “เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย” มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ได้ถูกนำมารายงานความก้าวหน้าในที่ประชุมครั้งนี้ โดยศูนย์พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ แผนงานโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
 
   ปัจจุบัน การแก้ไขป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ (NCDs) ได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่กำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันโรค NCDs เพราะถือเป็นกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและประเทศไทย แต่เนื่องจากการป้องกันโรคกลุ่มนี้ ไม่สามารถดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องจัดการสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆด้วย
 
   ประเด็นนี้ จึงต้องบูรณการการทำงาน ระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยจะมีการรับฟังความเห็น ในวันที่ ๑๐ มี.ค.นี้ ต่อ ร่างแผนปฏิบัติการบูรณาการยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ที่ตอบสนองต่อ ๙ เป้าหมาย ซึ่งได้นำกรอบการติดตามและประเมินผลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) มาใช้ เพื่อผลักดันแผนไปสู่คณะรัฐมนตรีต่อไป
 
   นอกจากนั้น ยังมีการรายงานความก้าวหน้าของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ เรื่อง วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันได้ร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑ คาดว่าจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ในเดือน ก.ค.นี้
 
   “ขอให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่จะต้องขับเคลื่อนทุกมติ พยายามปรับโรดแมพการทำงานให้อยู่ในระยะไม่เกินปี ๒๕๖๐ เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะทำให้มติมีเส้นทางที่ชัดเจน ก่อนจะส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป” นพ.ศุภกิจ ย้ำแนวทางและทิศทางการทำงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ