- 34 views
หลังจาก คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เห็นชอบให้มีการ Revisit หรือ การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงเนื้อหามติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาระเบียบวาระ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ วันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
ทั้งนี้ มี ๒ มติที่สำคัญ ซึ่ง คมส.มอบให้เร่งดำเนินการ Revisit ได้แก่ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ตามข้อเสนอของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดประชุม “คณะทำงานวิชาการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ทั้ง ๒ ประเด็นดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะ
คณะทำงานวิชาการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓ ประเด็น มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มี ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล เป็นประธาน พบว่า แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมตินี้ไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๒ เม.ย.๒๕๕๔ จนถึงขณะนี้ผ่านมา ๔ ปี ยังมีการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ เพื่อผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างอยู่ต่อไป เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชน ยังไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมต้องการเห็นความก้าวหน้าของมาตรการในส่วนอื่นๆที่สำคัญ ควบคู่กันไปด้วย
“การขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่มาตรการห้ามผลิต ห้ามขายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมไปถึงการผลักดันมาตรการอื่นๆให้ครอบคลุมอย่างครบวงจรด้วย ที่สำคัญ คือมาตรการควบคุมการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเก่า ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยอย่างแท้จริง”
คณะทำงานฯ จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติในวันที่ ๖ พ.ย.อีกครั้ง โดยจะเชิญหน่วยงานและองค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ อาทิ กระเบื้อง ผ้าเบรค คลัทช์ รวมถึงผู้ผลิตท่อน้ำประปาขนาดใหญ่ ที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบบางส่วน ฯลฯ มาร่วม เพื่อให้ความเห็นอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอเป็นมติต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ต่อไป
สำหรับการประชุมคณะทำงานวิชาการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ประเด็น “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” มี อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธาน ชูประเด็นสำคัญเพื่อทลายอุปสรรค และให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง สามารถแก้ปัญหาได้ แม้งบประมาณจำกัด รวมถึงการดึงหน่วยงาน ภาคี หรือองค์กร เข้ามามีส่วนร่วมภารกิจนี้เพิ่มเติม
ที่ผ่านมา มีชุมชนและเครือข่ายกว่า ๓๐๐ ชุมชน ที่รวมกลุ่มร่วมจัดการไฟป่าและหมอกควันอย่างจริงจัง แต่ยังขาดการผนึกกำลังกับหน่วยงานราชการ ซึ่งมีบุคลากรและงบประมาณ
ความไม่เป็นเอกภาพทำให้แก้ไขป้องกันจึงไม่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ความร่วมมือของชุมชนยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ ทั้งที่มีกว่า ๑,๓๑๘ ชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า
สำหรับการก้าวข้ามข้อจำกัดนั้น อ.เดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) เสนอให้ดึงองค์กรธุรกิจ และคนเมืองเข้ามาร่วมแก้ไข “เพื่อเปลี่ยนจาก ผู้โวยวายมามีส่วนร่วม เป็นลักษณะโครงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ หรือ CSR ซึ่งจะทำให้เกิดการสนับสนุนเม็ดเงินอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากใช้งบประมาณภาครัฐ และกองทุนสิ่งแวดล้อม ที่มีข้อจำกัด”
ตัวแทนกรมป่าไม้ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต่างระบุว่า ภารกิจป้องกันไฟป่ายังเป็นของกรมป่าไม้เป็นหลัก แม้จะมีแนวทางการกระจายอำนาจ ให้ทยอยโอนภารกิจนี้ให้แก่ท้องถิ่น แต่ยังติดปัญหาความล่าช้าในการโอนกำลังคน และงบประมาณ ไม่สอดคล้องกัน ทำให้การโอนภารกิจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ปัจจุบันจะมีหลายท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการปัญหาไฟป่า แต่ยังไม่สามารถขยายผลได้เต็มที่นักเพราะยังมีท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ เกรงจะเป็นเรื่องผิดระเบียบ ซึ่งตัวแทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยืนยันแล้วว่าสามารถทำได้
อาจารย์ไพสิฐ ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ระบุว่า จะมีการนำร่างทบทวนมติฯ ไปรับฟังความคิดเห็นในวันที่ ๑๑ พ.ย.ต่อไป เพื่อสรุปเนื้อหาที่จะ Revisit เสนอ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ โดยคณะทำงานฯ ตั้งความหวังจะทำให้มติครั้งนี้ เป็นอีกช่องทางให้เกิดการแก้ไขป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้อย่างแท้จริงในระดับพื้นที่ต่อไป
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143