- 981 views
การพัฒนา นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อน จากภาคีเครือข่ายที่หลากหลายตั้งแต่ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ไปจนถึงระดับชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงจัดเวที “รวมพลังภาคีเครือข่าย สู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘” เมื่อวันอังคารที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๘ ณ ห้องปรินซ์ ๑,๒ ชั้น ๑๑ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม.
บรรยากาศของการประชุมครั้งนี้ คึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะมีภาคีเครือข่ายจากทุกกลุ่ม อาทิ ด้านสาธารณสุข การศึกษา ศาสนา แรงงาน เยาวชน ศิลปิน ฯลฯ มาเข้าร่วมประมาณ ๓๐๐ คน
โดย ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่ายฯ ขึ้นกล่าวต้อนรับ และวัตถุประสงค์ในการประชุม ต้องการให้ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่เริ่มนำเสนอประเด็น ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระเบียบวาระ เข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ภายใต้ประเด็นหลักของงาน คือ “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” และขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
จากนั้น นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นกล่าวทักทายทุกๆคนอย่างเป็นกันเองและตอกย้ำว่า ภาคีเครือข่ายคือกลไกสำคัญในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สร้างสังคมสุขภาวะ และนำไปสู่หลักการที่เรียกว่า All for Health
“การประชุมครั้งนี้ ถือว่าได้รับเสียงตอบรับดีมาก จากภาคีเครือข่าย ทั้งภาคประชาสังคม เครือข่ายวิชาชีพ วิชาการ ภาคราชการ ภาคการเมือง รวมแล้ว 203 กลุ่มเครือข่าย ซึ่งทาง สช. ก็มีการพัฒนาฐานข้อมูลทุกปี เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด”
มีการสะท้อนตัวอย่าง ความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรม อุปสรรค และประเด็นที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน ในระหว่างการเสวนา “กลุ่มเครือข่ายกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” โดย นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในฐานะกลุ่มเครือข่ายภาควิชาการ ที่ผลักดันจนเกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง “มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ซึ่งถือเป็นกรณีที่ครอบคลุมทั้ง เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การลงทุน อุตสาหกรรม มีผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก และต้องใช้เวลาดำเนินการตามมติหลายปี
“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่นักวิชาการหรือกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วน ชาวบ้าน ผู้บริโภค กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ก็มาร่วมด้วย ดังนั้น การตัดสินใจจึงทำได้ยาก มีคนได้ คนเสีย การผลักดันนโยบายก็มีความซับซ้อน เมื่อทำไปซักระยะหนึ่งก็พอจะทราบว่า ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนอื่นๆมาช่วยสนับสนุนเราด้วย ไม่เช่นนั้นก็ทำไม่สำเร็จ”
ขณะที่ ภญ.ศรีนวล กรกชกร อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กลุ่มเครือข่ายภาคราชการ ผู้ผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ เรื่อง “การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต” และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ “แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑”
“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการที่มีเสน่ห์ ทำให้เราต้องเข้าไปค้นหาว่า เขาทำอะไร อย่างไร ท้าทายว่ามันได้ผลจริงหรือไม่ สัมฤทธิ์ผลแค่ไหน” ภญ.ศรีนวล ผู้ผ่านการทำงานแก้ปัญหาโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายมา ๔๐ ปี ให้ความเห็น และระบุว่า วิธีการเดิมของหน่วยราชการมีข้อจำกัดมาก ทำให้แก้ไม่ได้หมดสิ้น เหมือนการปราบศัตรูพืช คือดำเนินคดีเท่าไหร่ สักพักก็จะกลับมาอีก
“อย.ทำเต็มร้อย ทำทุกทาง ดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกทาง มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเป็นครั้งแรก เพราะช่วงนั้นเริ่มมี โทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุชุมชน กำลังเกิดขึ้น แต่ผลลัพธ์คือได้แต่ปัญหา แต่จะแก้ปัญหาคนเดียวไม่หมดเพราะบุคลากร กำลังคนมีจำกัด และเราอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข แต่ปัญหาวงกว้างถึงเชียงใหม่ สงขลา เราจะทำอย่างไร”
ส่งผลให้ อย.ต้องค้นหารูปแบบการทำงาน และเรียนรู้ต่อไปว่า มีใครบ้างที่จะช่วยเรา เป็นมือไม้ เครือข่ายเราได้ เรียกว่า ต้องหาเพื่อนช่วย ซึ่งก็พบว่าทุกคน จะเป็นตัวช่วยเราได้ เลยมองไปที่กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ และมีภาครัฐเข้าร่วม เช่น กสทช. ออกระเบียบดำเนินคดีผู้กระทำผิด ปรับสูงสุดถึง ๕ ล้านบาท จากเดิมที อย.ปรับครั้งละ ๕,๐๐๐ บาท และมีอำนาจระงับออกอากาศ
พระสาธิต ธีปัญโญ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม (สฆส.) กล่าวว่า ได้ร่วมขับเคลื่อน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” เนื่องจากแต่เดิมนั้น ญาติโยมยังไม่เข้าใจว่าพระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับมติเรื่องสุขภาพได้อย่างไร ทราบแต่เพียงว่าพระสงฆ์คือพลังทางสังคมอย่างหนึ่ง จะมีก็เพียง กรมอนามัย ที่มีโครงการช่วยเหลือดูแลพระสงฆ์ยามชราภาพ
มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้คนมองเห็นปัญหาร่วมกันว่า สุขภาพของพระสงฆ์เกิดจากปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารจากการบิณฑบาต พฤติกรรมการใช้ชีวิต ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน ขับเคลื่อนให้เป็นปัญหาสาธารณะให้ได้
นอกจากนั้น พระสาธิต ยังพบปัญหาคือ พระหลายรูปอายุมากและป่วยหนัก ก็ไม่มีลูกศิษย์ดูแล ญาติพี่น้องต้องรับกลับบ้าน บางคนตกระกำลำบากในการใช้ชีวิต
“หลังเกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว เราจึงเริ่มคิดถึงระบบการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ คือการตั้งกองบุญสุขภาวะพระสงฆ์ขึ้นมาช่วยเหลือกัน ขณะที่พระสงฆ์ก็มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพชาวบ้าน เช่น ยาเสพติด สุขอนามัย ฯลฯ มากขึ้น”
จงกลนี ศิริรัตน์ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนจากกลุ่มเครือข่ายพื้นที่ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมมีการรวมตัวกันมานับสิบปี เรียกว่าเป็นคนเล็กคนน้อย แต่มีหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์ อาจารย์ นักธุรกิจ ก็มาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นการขับเคลื่อน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๒ เรื่อง “การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งเราดึงชุมชน ท้องถิ่น ชาวบ้านก็มาร่วมกันเพราะทุกคนเห็นปัญหา
สุดท้ายจึงเกิดเป็นแผนดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ที่จัดทำนโยบายแก้ปัญหาขึ้นเอง โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางอย่างเดียว และมีการจัดสรรงบประมาณปรับปรุงถนนให้เกิดความปลอดภัยดีขึ้น
ในช่วงบ่าย มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อทบทวนและให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดกลุ่มเครือข่าย แบ่งเป็น โซนที่ ๑ ภาคราชการ/การเมือง โซนที่ ๒ ภาคประชาสังคม ชุมชน และเอกชน โซนที่ ๓ ภาควิชาชีพ/ราชการ จากนั้นเป็นการ “เวิร์คชอป” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน และเสนอประเด็นที่น่าสนใจ และอยากจะพัฒนาไปสู่กระบวนการพัฒนาให้เป็นนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ เรียกว่างานนี้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์และความรู้กันอย่างทั่วถึงทีเดียว
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144