ประมวลร่างเอกสารมติ 4 ประเด็นสำคัญ ก่อนเข้าสู่เวทีสมัชชาฯเดือนธ.ค.นี้ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะทำงานวิชาการฯ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายหลัก กำลังทำงานหนัก เพื่อยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบายและร่างมติ ๔ ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ๑.สุขภาวะเมืองใหญ่ : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมืองอย่างมีส่วนร่วม ๒.นโยบายลดบริโภคเกลือ ๓.วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ๔.สุขภาวะชาวนา ก่อนนำเข้าสู่วาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อหาฉันทามติในวันที่ ๒๑-๒๓ ธ.ค. ๒๕๕๘
 
   เมื่อเร็วๆนี้ จึงมีการประชุมระหว่างคณะทำงานทั้ง ๔ ประเด็น และคณะอนุกรรมการวิชาการ เพื่อปรับปรุงร่างเอกสารหลักและร่างมติร่วมกัน ให้มีความชัดเจนและกระชับมากขึ้น ก่อนสื่อสารไปยังภาคีเครือข่ายทั้ง ๗๗ จังหวัด และเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป
 
   ทางคณะอนุกรรมการวิชาการ ต่างผลัดกันช่วยขัดเกลาร่างเอกสารและมติ ในหลายจุดของประเด็นต่างๆโดยเน้นการเรียบเรียงให้ร่างเอกสารเข้าใจง่ายขึ้น และปรับร่างมติให้ชัดเจน ทำให้การขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมบรรลุเป้าหมาย
 
   ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการฯ ย้ำว่า ร่างมติที่ต้องการขอความร่วมมือ ไปยังหน่วยงานต่างๆ จะต้องผ่านการหารือและทำความตกลงกับหน่วยงานนั้นก่อนกำหนดในร่างมติ รวมถึงการวาง “โรดแมป” การทำงานเพื่อให้แต่ละประเด็นเดินหน้าทำงานได้จริง
 
   “ร่างมติที่ขอให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการ จะต้องผ่านการหารือและทำความตกลงกับหน่วยงานนั้นมาแล้ว เพื่อให้มติปฏิบัติได้จริง” นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ ย้ำกับคณะทำงานทั้ง ๔ ชุด
 
   สำหรับจุดมุ่งเน้นของทั้ง ๔ ประเด็นนั้น สุขภาวะเมืองใหญ่ และวิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ต่างให้ความสำคัญกับบทบาทของ กระทรวงสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนการทำงาน พร้อมกับส่งเสริมบทบาทของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เช่นเดียวกัน นโยบายลดบริโภคเกลือ ที่มีเป้าหมายให้อปท.ออกมาตรการหรือระเบียบ เพื่อส่งเสริมลดการบริโภคเกลือไปยังภาคประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
 
   ขณะที่ประเด็นเรื่อง สุขภาวะชาวนา เน้นบทบาทกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาพันธ์สมาคมชาวนาไทย เพื่อสร้างพลังให้กับองค์กรชาวนาทั้งหมดให้มีเอกภาพ และสามารถต่อรองผลประโยชน์ของชาวนาได้ โดยให้ทั้งสององค์กรเป็นแกนหลักในการประสานและเชื่อมโยงการทำงาน กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเปิดตลาดข้าวให้กว้างขึ้น และใช้ สภาเกษตรกรระดับจังหวัด ร่วมกับสมัชชาสุขภาพจังหวัด สร้างกระบวนการให้ชาวนาในชุมชนร่วมมือ มุ่งเน้นให้มี ศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มเครือข่ายชาวนารุ่นใหม่ ปราชญ์ชาวบ้าน ในทุกตำบล อำเภอ จังหวัด
 
   จากการแลกเปลี่ยนความเห็นครั้งนี้ ทำให้คณะทำงานหลายคณะ เห็นความสำคัญของ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย อาทิ ประเด็นวิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ที่จะดึงเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายในการพัฒนาหลักสูตรและเป็นกลไกในการเชื่อมร้อยการทำงานกับท้องถิ่น
 
   หลังจากหารือร่วมกันระหว่าง คณะทำงานกับ คณะอนุกรรมการวิชาการ จะนำไปสู่การปรับปรุงร่างเอกสารและมติอีกครั้ง ก่อนนำเสนอไปยังกลุ่มเครือข่ายทั้ง ๗๗ จังหวัด และเข้าที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ ต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ