‘ความมั่นคงรายได้’ โจทย์ใหญ่ สร้างสุขภาวะชาวนาไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   “ความมั่นคงในการประกอบอาชีพทำนา สุขภาพที่ดี และมีอำนาจต่อรอง” เป็นเป้าหมายใหญ่ของการสร้าง “สุขภาวะชาวนา” ที่กลุ่มเครือข่ายเกษตรกร ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมมือกันขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ
 
   ในเวทีรับฟังความคิดเห็น “ข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยประเด็นสุขภาวะชาวนา” เพื่อนำเสนอร่างเอกสารเข้าสู่ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ ปลายปีนี้ โดยมี ผศ.นิกร พรหมกิ่งแก้ว ประธานคณะทำงานฯพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยสุขภาวะชาวนา พร้อมด้วย นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวนาจากทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมพัชราวดี ชั้น ๑๑ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
 
   จากสถิติในช่วงปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖ พบว่า เกษตรกรไทย มีสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกายระดับเสี่ยงร้อยละ ๓๐ ของเกษตรกรทั้งหมดที่สุ่มตรวจ และอัตราเสียชีวิต ๑ รายต่อแสนคน มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ๑,๐๐๐ บาทเศษต่อคนต่อปี และเพิ่มอีก ๑,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี สำหรับคนที่รับจ้างฉีดพ่นสารเคมี
 
   นอกจากสารเคมีตกค้างแล้ว ชาวนายังประสบกับโรคอื่นๆรุมเร้า อาทิ โรคฉี่หนู ที่มาจากสภาพแวดล้อม และโรคผิวหนังเปื่อยจากการแช่น้ำนาน โรคกล้ามเนื้อและปวดข้อ และยังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากต้นทุนการทำเกษตรที่สูงขึ้น ผลผลิตน้อยลง เพราะแปลงนาส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน
 
   ครอบครัวชาวนากว่าร้อยละ ๔๒ จึงมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนในปี ๒๕๕๔ ซึ่งมีค่าเท่ากับ ๒,๔๒๒ บาทต่อคนต่อเดือน ครอบครัวชาวนาจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว และยากที่จะรักษาที่ดินทำกินได้ต่อไป
 
   เยียน แผนปั้น ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองกระดี่ ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า เมื่อได้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในปี ๒๕๕๒ ก็พยายามมองหาหนทางที่จะทำให้ลูกบ้านกินดีอยู่ดี
 
   “ทางเดียวคือต้องลดต้นทุนการทำเกษตรของชาวบ้าน และเพิ่มรายได้ คำตอบก็ไม่พ้น ต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง อยู่รอบตัวเกษตรกร เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำขึ้นเอง และเดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการเพื่อนพึ่งพายามยาก ทำให้เรามีองค์ความรู้และตลาดรองรับชัดเจน และเดินหน้าได้”
 
   เมื่อเห็นสุขภาวะข้างหน้า ชาวบ้านจึงเข้ามาร่วมกลุ่ม ๒๐ คน ทำแปลงพืชผักเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ ชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านหนองกระดี่ เพื่อนพึ่งภา ส่งขายในย่านนั้นและหน้าห้างสรรพสินค้า ไม่นานก็ทำจนกระทั่งไม่พอขาย ตอนนี้ขยายมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วยกัน บนพื้นที่ ๓๐ ไร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และต่อยอดความรู้ไปเลี้ยงปลา และกบแบบอินทรีย์ด้วย
 
   เช่นเดียวกับ ประวัติ กองเมืองปัก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดรัง อ.กุดรัง
จ.มหาสารคาม เล่าว่าในอดีตการทำนาใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆมาก ชาวนาไม่เคยดูต้นทุนจริงๆว่าเท่าไหร่ ซ้ำยังขาดความรู้ และไม่มีทักษะในการใช้ปุ๋ย ไม่มีการป้องกันและดูแลสุขภาพของตัวเองเลย แต่เมื่อได้ไปตรวจโรคก็พบสารเคมีในเลือดกันทุกคน เพราะบางส่วนปลูกเองกินเองด้วย

 
   ที่ตำลบล กุดรัง จึงรวมกลุ่มชาวนา ๖๐ คน บนพื้นที่ ๓๐๐ ไร่ ปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ ทั้งพันธุ์ข้าวเหนียว กข. ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล จากปีแรกที่ได้ข้าวไม่มากก็ใฝ่หาความรู้กัน มีการปลูกเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน เจาะน้ำบาดาลทำเกษตร โดยใช้โซลาร์เซลล์ กระทั่งได้ผลผลิตเพิ่มจาก ๓๐ ถังเป็น ๖๐ ถังไร่ในวันนี้ “ข้าวฮ้าง” แตกต่างจากข้าวอินทรีย์ทั่วไป เพราะมาจากข้าวเปลือก ผ่านกรรมวิธีนึ่ง และนำไปตาก ก่อนสีและบรรจุเป็นข้าวกล้องขาย ซึ่งกรรมวิธีแบบนี้ แม้ต้องผ่านขั้นตอนมาก แต่คุณค่าทางอาหารที่ผู้บริโภคได้รับเต็ม ๑๐๐% ผศ.นิกร พรหมกิ่งแก้ว ประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเฉพาะประเด็นสุขภาวะชาวนา ย้ำในตอนท้ายว่า การแก้ปัญหาผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ จะเริ่มจากเรื่องสำคัญก่อน จากนั้นค่อยๆขยายผลต่อไป “จะมีเวทีระดับจังหวัด ผลักดันในระดับพื้นที่ ขณะเดียวกัน สมาพันธ์สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย และสภาเกษตรกร จะเข้ามาเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนภาพรวม โดยเลือกพื้นที่นำร่อง และขยายผลการทำงาน”
 
   ประเด็นสำคัญประกอบด้วย ๑.ให้ชาวนาสามารถบริหารจัดการผลิตและยกระดับมูลค่าของผลผลิต เพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๒.ใช้ภูมิปัญญาผสมผสานองค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อสุขภาพและดูแลระบบนิเวศน์ ๓.สร้างทักษะในการปรับตัว รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร และการเปลี่ยนแปลงของโลก ๔.สร้างและพัฒนาชาวนารุ่นใหม่
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ