- 67 views
การประชุม คณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่ายและสนับสนุนการมีส่วนร่วม ครั้งที่ ๕/๕๘ ที่มี ดร.ไชยยศ บุญญากิจ เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘ มีการสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อความสำเร็จ ของการจัดประชุม รวมพลังเครือข่ายฯ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และได้ทบทวนการจัด “กลุ่มเครือข่าย” เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอีกด้วย
ในปีนี้ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้จัดทำ “แผนการสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเครือข่ายนำร่อง” เป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเครือข่าย เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งก่อน-ระหว่าง-และหลัง กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเครือข่าย ๖ กลุ่ม ประกอบด้วย
๑) กลุ่มเครือข่ายสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
๒.) กลุ่มเครือข่ายกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
๓.) กลุ่มเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล
๔.) กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรม ๑ (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)
๕.) กลุ่มเครือข่ายสมาคมที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ
๖.) กลุ่มเครือข่ายสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
อ.กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร อนุกรรมการฯ เล่าถึงความสำคัญของกลุ่มเครือข่ายนำร่องว่า จะเป็นส่วนสำคัญในการทำงาน ซึ่งปีนี้จะมีความแตกต่างจากปีก่อนๆ ที่กลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ จะไปร่วมจัดเวทีระดมความคิดเห็นในแต่ละเครือข่ายที่เกี่ยวกับกลุ่มของตนเอง โดยเครือข่ายนำร่อง ต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจน ต่อสาระของระเบียบวาระนั้นๆ เพื่อนำสาระไปทำความเข้าใจในการจัดเวทีระดมความเห็น
ตรงนี้ถือว่า สอดคล้องกับหลักคิดของ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่าย ที่ตัวแทนจะนำความคิดเห็นของกลุ่ม มาเสนอในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป
“ถือเป็นความท้าทายที่ได้ขยายการมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น โดยกลุ่มเครือข่ายพื้นที่ (MA) ๗๗ จังหวัดอยู่แล้ว แต่ในปีนี้ได้หนุนเสริมเครือข่ายนำร่อง ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ด้วย”
ผลการพิจารณาทบทวนการจัดกลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีจำนวนกลุ่มเครือข่าย ๒๘๐ กลุ่มเครือข่าย และมีจำนวนภาคีเครือข่ายถึง ๘๓๘ เครือข่าย
“ถ้าภาคีเครือข่าย เข้าร่วมเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะอย่างหลากหลาย ต้องคัดเลือกประเด็นที่เห็นว่าสำคัญ มาดีเบตกัน ถึงที่มาที่ไปของการเสนอประเด็นนั้นๆ สุดท้ายก็จะเหลือประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวที่ผ่านการถกแถลงกัน ถือเป็นสิ่งดีๆที่ภาคีเครือข่ายได้มาร่วมเรียนรู้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” อ.กิจจา เรืองไทย อนุกรรมการฯ กล่าว
โดยหลังจากนี้ จะได้ทำการเชิญ กลุ่มเครือข่าย และองค์กรเครือข่าย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคมนี้ ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ต่อไป
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143