- 387 views
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ ตั้งเป้าลดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีภายใน ๑๐ ปี หลังพบคนไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงถึง ๖ ล้านคนโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน หนุนขยายวงภาคีเครือข่ายทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมสร้างกลไกการทำงาน และสร้างยุทธศาสตร์สกัดโรคร้ายตั้งแต่ต้นทาง
นายสุรพงษ์ พรมเท้า รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ ๒ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันเสนอระเบียบวาระการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนเพื่อผลักดันสู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยแนวทางดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลงภายใน ๑๐ ปี หลังจากที่ผ่านมาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ได้คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับต้นๆของผู้ป่วยมะเร็งทุกประเภท โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งประชาชนยังนิยมรับประทานปลาไม่ปรุงสุก ทั้งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการให้ข้อมูลความรู้กับชาวบ้าน และถ้าพบมะเร็งตับในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้
“ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา คงไม่ได้เน้นแค่ปรับทัศนคติหรือค่านิยม ในการรับประทานอาหารปรุงสุกเท่านั้น แต่ยังมีหลายปัจจัยประกอบ ทั้งการทิ้งสิ่งปฏิกูล ทางน้ำ ทางรถไฟ และสร้างระบบสุขาภิบาลที่ดี ซึ่งท้องถิ่นต้องเข้ามาร่วมบริหารจัดการด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น รวมทั้งการสร้างความรู้ ความตระหนัก และความเข้าใจ ผ่านระดับตำบล หมู่บ้าน ไปจนถึงให้ความรู้ในระดับอุดมศึกษา
ปัจจุบันมีคนไทยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูงถึง ๖ ล้านคน และทุกปี พบผู้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน โดยเฉพาะในภาคอีสานมีผู้เป็นพยาธิใบไม้ตับถึงร้อยละ ๑๘.๖ ส่วนภาคเหนือพบร้อยละ ๑๐ ขณะที่ภาคอื่นๆพบปัญหาค่อนข้างน้อย สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จากการกินอาหาร อาทิ ก้อยปลา ลาบปลา ปลาส้มดิบ ส้มตำปลาร้าดิบ ฯลฯ คนกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งมากกว่าคนปกติ ๑๖ เท่า
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีฉันทมติต่อเรื่องนี้แล้ว จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพและขยายวงกว้างขึ้น โดยให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น กรมปศุสัตว์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ขณะที่ระบบการให้บริการสุขภาพก็จะได้รับการพัฒนาขึ้น ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณที่เพียงพอในการคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ
ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องนี้ได้พัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม จำนวน ๒๙ คน ซึ่งมี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ เป็นประธาน
ขณะที่ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ได้เสนอให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น โดยดึง กองทุนสุขภาพตำบล เข้ามาสนับสนุนงบประมาณอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนท้องถิ่น และใช้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้ามาร่วมให้ความรู้กับประชาชนและให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาร่วมสนับสนุนช่องทางให้ความรู้กับประชาชน พร้อมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติในการทิ้งสิ่งปฏิกูล รวมถึงดูแลสุขลักษณะของแรงงานต่างด้าวและสัตว์เลี้ยงด้วย
นายอิศราวุธ สุลา เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปัญหาพยาธิใบไม้ตับมีผลกระทบต่อคนภาคอีสานมาก เนื่องจากมีโอกาสได้รับพยาธิใบไม้ตับ จากวัฒนธรรมการบริโภคและวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการกินอาหารพวกปลาดิบ เช่น ส้มปลา ลาบปลา ปลาร้า แม้ว่าค่านิยมการบริโภคบางพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ที่หนองคาย จะนำปลาร้าไปต้มก่อน ไม่กินจากไหโดยตรง แต่การทำลายพยาธิที่อยู่ในปลาร้าทั้งหมดก็ยังเป็นเรื่องยาก
แนวทางแก้ไขปัญหา จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เนื่องจากขณะนี้ระบบให้บริการสุขภาพในพื้นที่ภาคอีสานมีศักยภาพสูงขึ้น สามารถรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีได้ในระยะเริ่มต้น แต่ต้องได้รับการสนับสนุนความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณที่เพียงพอ เช่น การคัดกรองและเก็บอุจจาระกลุ่มเสี่ยงไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องใช้เวลาและเทคโนโลยี เพราะ ๑ วัน สามารถดำเนินการตรวจได้เพียง ๒๐ ตัวอย่างเท่านั้น หรือการอ่านฟิล์มอัลตร้าซาวน์ ก็ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ซึ่งภาครัฐควรให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้หารือกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนและโรงพยาบาลคัดกรองผู้ป่วย
นอกจากนั้น ที่ผ่านมายังพบปัญหาเรื่องกฎหมายดูแลการทิ้งสิ่งปฏิกูลในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอุจจาระที่เทศบาลหรือเอกชนให้บริการสูบตามบ้านเรือนประชาชน เรื่องนี้พิจารณากฎระเบียบที่ชัดเจนว่าจะทิ้งอย่างไรไม่ให้อุจจาระเหล่านี้ เป็นแหล่งฝักตัวของพยาธิใบไม้ตับแพร่กระจายออกสู่ประชาชนได้อีก
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144