- 187 views
เวที สช.เจาะประเด็น ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พร้อมเดินหน้า “พ.ร.บ.นมผง” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ๙ กันยายนนี้ กรมอนามัยจับมือสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศและโรงพยาบาลเอกชน ปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด หยุดโฆษณาและการตลาดเชิงรุกที่ละเมิดสิทธิ ขณะที่วิชาชีพแพทย์พยาบาลต้องปรับตัวไม่การันตีคุณภาพให้บริษัทนมผง ด้านภาคเอกชนย้ำต้องส่งเสริมพื้นที่อำนวยความสะดวกให้มารดาทั้งในโรงงานและออฟฟิศ
เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด เวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ ๓/๒๕๖๐ “หยุด!! โฆษณา ฆ่าน้ำนมแม่” ที่ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ สื่อสารผลสำเร็จจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่การปฏิบัติ หนุนการใช้กฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจนมผงจำนวนมากใช้กลยุทธ์การโฆษณาและการตลาดที่ละเมิดประกาศสาธารณสุข ที่ออกตามหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast milk Substitutes) ของสมัชชาอนามัยโลก ส่งผลให้แม่เข้าใจผิดว่านมผงดีเท่านมแม่ และการบริโภคนมแม่ไม่เพียงพอ ต้องมีนมผงด้วย และต่อมาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓ ได้มีฉันทมติ เรื่อง “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” หลายภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนมติ จนเป็นพลังหนุนให้กรมอนามัยยกร่างกฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาเป็น พ.ร.บ.การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.๒๕๖๐ หรือ พ.ร.บ.นมผง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน ๖๐ วัน คือ วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐ นี้ กฎหมายนี้จะมีผลให้แนวทางการส่งเสริมการตลาดที่บริษัทนมผงเคยดำเนินการอยู่เดิมไม่สามารถดำเนินการได้อีก เช่น การติดต่อกับมารดาที่ตั้งครรภ์โดยตรง การแจกนมผงที่โรงพยาบาลให้มารดานำกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน หรือการให้ข้อมูลที่เกินความเป็นจริงต่างๆ เป็นต้น โดยกรมอนามัยได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเอกชนและสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งรับผิดชอบงานด้านส่งเสริมสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ อบรมให้ความรู้ที่ตรงกัน รวมทั้งมีมาตรการเฝ้าระวังเพื่อบังคับใช้กฎหมายด้วย
“กรมอนามัยกำลังเร่งออกประกาศรองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. นี้ภายใน ๑๘๐ วัน ซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดบางอย่างให้มีความชัดเจน เช่น การบริจาคของผู้ประกอบการนมผงลักษณะใดทำได้หรือทำไม่ได้ การจะให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคโดยตรงต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น”
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถูกผลักดันมาตลอด ๓๐ ปี และกว่า ๙ ปีที่ผลักดันเป็นกฎหมาย และใช้เวลาขับเคลื่อนหลังได้มติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอีก ๗ ปี เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการค้าจากตลาดนมผงมูลค่ากว่า ๒๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี แต่ความพยายามของหลายภาคส่วนที่ผ่านมาก็เริ่มทำให้สัดส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นตามลำดับแล้ว จาก ๓% ในปี ๒๕๔๙ เป็น ๑๒.๓% ในปี ๒๕๕๕ และเพิ่มเป็น ๒๓.๑% ในปี ๒๕๕๙
“กฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษปรับไม่เกิน ๓ แสนบาท แต่เราไม่ต้องการใช้กฎหมายบังคับมากเกินไป ต้องการขอความร่วมมือมากกว่า โดยมีอีกหลายเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมให้แม่มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่อยู่ระหว่างพิจารณา คือ แนวทางเพิ่มวันลาคลอดเป็น ๖ เดือน เป็นต้น”
ด้าน ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากลยุทธ์การตลาดนมผงมีผลต่อการตัดสินใจของแม่ในการเลือกใช้นมผสมแทนนมแม่ มีการสื่อสารที่ทำให้เกิดการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือใช้ภาพประชาสัมพันธ์ที่มีความทันสมัยและเทคโนโลยี รวมถึงให้ข้อมูลว่านมผสมเป็นเรื่องสมัยใหม่ สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพลูกได้ เช่น อาการท้องอืด ใช้นมนี้แล้วจะย่อยง่าย เด็กเก่ง เป็นต้น ซึ่งหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. แล้ว บุคลากรสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล กุมารแพทย์ นักสาธารณสุขชุมชน ฯลฯ คงต้องระมัดระวังตัว ไม่เป็นผู้ไปการันตีให้บริษัทนมผง เนื่องจากมีรายงานในประเทศไทยว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม ร้อยละ ๘๑.๘% จะเลือกยี่ห้อนมตามที่ได้รับแจกและคำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข จึงควรช่วยกันระมัดระวัง เพราะมีทั้งสิ่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม อาทิ การใช้โปสเตอร์ติดในตึกทารกแรกเกิด การรับเงินสนับสนุนของโรงพยาบาล การแจกตัวอย่างนมเมื่อไปรับสูติบัตร การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับแม่ในโรงพยาบาล การมอบชุดของขวัญแรกเกิด และการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
“การที่กฎหมายใหม่จะมีประโยชน์ต่อมารดา ครอบครัว และสังคมไทยมากที่สุด จะต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไป เพื่อให้มั่นใจว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก สร้างความเข้าใจต่อกันอย่างมีมิตรไมตรี เพราะการเอาชนะกันเพียงอย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่หันมาให้ความรู้ที่ถูกต้องระหว่างนมแม่และนมผง ปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างความเข้าใจเนื้อหาในกฎหมายโค้ดมิลค์ และปฏิบัติตามให้ถูกต้อง น่าจะดีที่สุด”
ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ กล่าวว่า มีอีกหลายเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรณรงค์เพื่อสร้างปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่จะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาทิ การรณรงค์ให้แม่คลอดลูกเองแทนการผ่าท้อง และไม่แยกแม่ลูกออกจากกันหลังคลอด หมายถึงภายในไม่เกิน ๑ ชม. ต้องให้เด็กแรกเกิดได้กลับมาอยู่กับแม่ ทั้งหมดจะช่วยกระตุ้นให้แม่มีน้ำนมได้อย่างดี
ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุมการส่งเสริมการตลาดตามกฎหมายนี้ ประกอบด้วย ๑.อาหารสำหรับทารก (อาหารสำหรับเด็กอายุ ๐-๑๒ เดือน) ๒.อาหารสำหรับเด็กเล็ก (อาหารที่ใช้สำหรับเด็กอายุ ๑-๓ ปี แต่จะต้องมีประกาศรองรับก่อน) และ ๓. อาหารเสริมสำหรับทารก โดยสาระสำคัญ คือ ห้ามผู้ประกอบการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทั้งการลดแลกแจกแถม การติดต่อหญิงที่มีครรภ์หรือมีลูกเล็ก การจัดหรือสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และการให้ประโยชน์กับบุคลากรทางสาธารณสุข เป็นต้น รวมถึงกำหนดให้ต้องทำฉลากให้แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างอาหารทารกและเด็กเล็ก
“กฎหมายไม่ได้ห้ามผลิตและจำหน่ายนมผง แต่ไม่ให้ส่งเสริมการขาย เพื่อไม่ให้ข้อมูลอันเกิดจากการทำตลาดของผู้ประกอบการไปเป็นปัจจัยที่ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้วิธีการและกลยุทธ์หลากหลายในการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ โดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่เหมาะสมอย่างที่ควรจะให้แก่ผู้บริโภค และยังทำให้เข้าใจผิดคิดว่านมผงดีกว่าหรือมีประโยชน์เท่ากับนมแม่ ทั้งที่ความจริงแล้ว นมแม่มีสารอาหารมากกว่านมผงมากนัก และทำให้เข้าใจผิดว่านมแม่ไม่พอ ทั้งๆ ที่การให้นมผงเร็วเกินไปมีผลขัดขวางการผลิตนมแม่โดยธรรมชาติ ซึ่งหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ ๙ กันยายนแล้ว สังคมและผู้บริโภคต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และส่งสัญญาณไปยังผู้ควบคุมกำกับเมื่อเห็นมีการกระทำความผิด”
นายพยัพ แจ้งสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักพัฒนาองค์กร บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด กล่าวถึงประสบการณ์การบริหารจัดการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ต้องยอมรับว่าพนักงานยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นระบบ ขาดช่องทางการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ อันเป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจของพนักงานที่จะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตัวเอง ผิดกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายนมผงที่มีศักยภาพมากพอที่จะนำเสนอข้อมูลประโยชน์ของนมผงสู่ผู้บริโภคผ่านช่องทางการตลาดทางสื่อต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และลืมประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
สำหรับแม่ที่ทำงานในสำนักงาน มีหลายวิธีที่จะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การเก็บน้ำนมทำสต็อกไว้ให้ลูก สามารถทำได้ ๒ ลักษณะ คือ ๑.กรณีบีบเก็บน้ำนมด้วยมือแม่เอง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด องค์กรต้องจัดมุมเล็กๆ ในสำนักงาน มีความเป็นส่วนตัวมิดชิด ปลอดภัย สะอาด เพื่อให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ด้วยความสะดวกใจ ๒.กรณีใช้เครื่องปั๊มน้ำนม กรณีนี้ก็จะง่ายและสะดวกเช่นกัน เพียงมีผ้าคลุมไหล่ที่ปกปิดส่วนของเต้านม ทำการติดตั้งเครื่องให้ปั๊มนมแม่ภายใต้ผ้าคลุม ซึ่งแม่ก็สามารถปั๊มเก็บน้ำนมไปพร้อมกับทำงานไปด้วย จะไม่ทำให้เสียเวลางาน
ส่วนผู้ที่ปฏิบัติงานในสายการผลิตหรือในโรงงาน สถานประกอบกิจการต้องจัดมุมนมแม่ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับบีบเก็บน้ำนมให้กับแม่มาใช้บริการ รวมถึงอาจมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ตู้เย็นสำหรับเก็บน้ำนมแบบแช่แข็ง ฯลฯ โดยบริษัทที่ทำเรื่องนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ยังได้รับผลดีกลับมากับบริษัทเอง เมื่อพนักงานมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการให้นมลูก และยังได้รับการดูแล รวมถึงให้กำลังใจจากผู้บริหารองค์กร ทำให้พนักงานรักองค์กรและทำงานในบริษัทนานขึ้น
“เราพบว่าพนักงาน โดยเฉพาะผู้หญิง มีอายุงานเฉลี่ย ๑๐ ปีขึ้นไป องค์กรก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะงานประกอบชุดสายไฟสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นงานหลักของบริษัท มีผู้หญิงสัดส่วนกว่า ๘๐% จากพนักงานประมาณ ๓,๐๐๐ คนต้องใช้ทักษะและความชำนาญมาก เมื่อพนักงานอยู่นาน ทำให้กระบวนการผลิตราบรื่น และการที่บริษัทให้ความสำคัญกับนมแม่มากกว่า ๑๐ ปี ทำให้ผู้ประกอบการอื่นๆ สนใจมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการในต่างประเทศด้วย”
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143