คมส. เร่งกรมอนามัยออกมาตรฐาน‘น้ำดื่มปลอดภัย’บังคับใช้ภายใน ๑ ปี | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ (คมส.) เร่งกรมอนามัยคลอดมาตรฐานน้ำดื่มสะอาดทั่วประเทศภายใน ๑ ปี ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก่อนออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติฯ ดูแลความปลอดภัยน้ำดื่มของประชาชน ด้าน กทม. จับมือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมลงพื้นที่นำร่องหนองแขม หนุนอาสาสมัครประชาชนเฝ้าระวังความปลอดภัยตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ก่อนขยายผลครอบคลุม ๖ กลุ่มพื้นที่ทั่ว กทม.
 
   เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๖๐ หลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน คมส. เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ เรื่อง “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” ซึ่งมีเครือข่ายภาคีเกี่ยวข้อง เช่น กรมอนามัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การประปานครหลวง ประปาภูมิภาค เครือข่ายสมัชชาสุขภาพพื้นที่ ร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม
 
   “ผมได้มอบนโยบายให้ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (พญ.ประนอม คำเที่ยง) ไปเร่งรัดกรมอนามัยจัดทำมาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยในประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และจะให้ประกาศกฎกระทรวงเรื่องนี้ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ ให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและบริบทของประเทศไทย พร้อมประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการนำไปใช้บังคับ เพราะหน่วยงานรัฐทำเพียงลำพังอาจไม่สำเร็จ โดยเฉพาะท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชนต้องเข้ามาช่วยกัน”
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันของเครือข่ายภาคีเกี่ยวข้องเพื่อติดตามผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อต้นเดือนเมษายน พบจุดที่น่ากังวลคือตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะใน กทม.คาดว่ามีประมาณ ๔๐,๐๐๐ ตู้ พบปัญหาว่าผู้ประกอบการมุ่งการขายมากกว่าคุณภาพตู้และน้ำดื่ม เมื่อตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้ระยะหนึ่งจนเริ่มคุ้มทุน บริษัทจะขายตู้ต่อให้เจ้าของบ้านที่รับเป็นพื้นที่ติดตั้ง โดยผู้ซื้อตู้หยอดเหรียญต่อช่วงมักจะไม่ได้รับข้อมูลการประกอบการ ทำให้ไม่เข้าใจหน้าที่ของการประกอบการ การขอต่ออายุใบอนุญาต รวมถึงขาดความรู้ในการดูแลความสะอาดปลอดภัยของตู้และน้ำดื่มด้วย
 
   ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เข้ามาสำรวจและออกแบบระบบเฝ้าระวังภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบมาตรฐานและราคา วางแผนดำเนินการในเขตพื้นที่ กทม. ๖ โซน ได้แก่ กลุ่มรัตนโกสินทร์ กลุ่มบูรพา กลุ่มศรีนครินทร์ กลุ่มเจ้าพระยา กลุ่มกรุงธนใต้ และกลุ่มกรุงธนเหนือ เปิดพื้นที่นำร่องไปแล้วที่โซนกรุงธนเหนือ โดยสำนักงานเขตหนองแขม สำนักอนามัย กทม. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การประปานครหลวง ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตหนองแขม เข้าร่วมการดำเนินงานด้วย โดยผู้ประกอบการทุกรายต้องมาขึ้นทะเบียนและตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอตามที่กฎหมายกำหนด
 
   ในส่วนของต่างจังหวัด นายดิษพล บุตรดีวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นใน คมส. ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำขั้นตอนและหลักเกณฑ์การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่ออำนวยการให้การจัดทำข้อบังคับท้องถิ่นที่จะเป็นแนวปฏิบัติควบคุมดูแลผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ต่างๆเป็นไปได้สะดวกขึ้น
 
   เรื่องที่ คมส. ให้ความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ แนวทางการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ ในปี ๒๕๖๐ จะเริ่มที่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ จำนวน ๔ มติ ได้แก่ น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน, การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อสุขภาวะ, การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยในเดือนมิถุนายนนี้จะจัดการประชุมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (Regional NHA9 Roadshow) ใน ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ แผนงานหรือกิจกรรมที่ได้ดำเนินงานอยู่และกำหนดแนวทางขับเคลื่อนมติให้เกิดรูปธรรมร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง ๔ มติ ระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และเขตพื้นที่ นอกจากนี้ คมส. ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็นอื่นๆ อาทิ การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อสุขภาวะ, พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ และสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน, การพัฒนาแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ฯลฯ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ