- 1104 views
ทุกภาคส่วนห่วงปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มสูงขึ้น เร่งขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “สุขใจไม่คิดสั้น” ดึงชุมชนร่วมแก้ปัญหา ‘กรมสุขภาพจิต’ ขยายบริการทางการแพทย์ เยียวยาผู้ป่วยได้ดีขึ้น เพิ่ม “สุขภาพจิต” เป็นเรื่องใหม่ในร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ด้านอาสาสมัคร หนุนบรรจุเป็นหลักสูตรเรียนการสอน สู้โรคซึมเศร้าในวัยเด็ก ก่อนคิดสั้นฆ่าตัวตาย
เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น “ฆ่าตัวตาย สุขภาวะคนไทยบนปากเหว” ณ ห้องสมุด ๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว ชั้น ๑ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยว่า จากผลการสำรวจความสุขของประเทศต่างๆ ใน “รายงานความสุขโลก” (World Happiness Report) พบว่าประเทศไทยมีลำดับที่ดีขึ้น ตลอดช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา โดยปี ๒๕๕๘ อยู่ลำดับที่ ๓๔ และล่าสุดปี ๒๕๕๙ อยู่ลำดับที่ ๓๓ ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม คือในปี ๒๕๕๗ อยู่ที่ประมาณ ๓,๙๐๐ คน คิดเป็นอันดับที่ ๕๗ ของโลก
นพ.ประเวช กล่าวว่า หลายฝ่ายได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่อง “สุขใจ...ไม่คิดสั้น” มาตั้งแต่ต้น โดยกรมสุขภาพจิตเองก็เป็นแกนสำคัญมุ่งเน้นการบูรณาการทุกภาคส่วนในสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเร่งพัฒนาระบบบริการและการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีมาตรการติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตาย โดยร่วมมือทุกระดับ ทั้งครอบครัว สถานศึกษา วัด ชุมชน และหน่วยงานต่างๆในพื้นที่
“ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ บริการจิตเวชและสุขภาพจิต เป็นบริการหลัก ๑ ใน ๑๐ รายการสำคัญของเครือข่ายสถานบริการ เพื่อช่วยขยายการเข้าถึงบริการรักษาโรคจิตเวชในผู้ใหญ่ เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และชุมชน รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมไทย ต่อผู้ป่วยทางจิตเวชอีกด้วย”
นพ.ประเวช กล่าวถึง ร่าง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.... :ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไปเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคมว่า นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ร่าง ธรรมนูญฯได้ให้ความสำคัญกับมิติสุขภาพจิต ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่มิติของคำว่า “สุขภาพ” โดยได้เพิ่ม “สุขภาพจิต” เป็นหมวดใหม่ไว้ หลักการสำคัญในส่วนนี้ได้อธิบายถึง ความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดของสุขภาพจิตกับสุขภาพกาย สังคมและปัญญา การดำเนินงานด้านนี้จึงต้องมุ่งเน้นการส่งเสริมความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ทั้งนี้ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้ครอบครัว ชุมชน และสังคม เข้าใจว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถอยู่ร่วมและใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคมได้ สังคมต้องช่วยเหลือเกื้อกูลและให้โอกาส ไม่แบ่งแยก ไม่กีดกัน ขณะที่ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นภาระโรคที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น จึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวชที่มีประสิทธิภาพในทุกกลุ่มวัย ทั้งเชิงรับและเชิงรุก
นพ.ประเวศ ยังแนะนำว่า ผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพจิตตนเอง สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ความสุขคนไทย ทั้งในระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส เพื่อทำแบบประเมิน เปรียบเทียบคะแนนความสุขกับคนในจังหวัดตนเอง และเรียนรู้บัญญัติสุข 10 ประการ เพื่อเติมความสุข ดูแลสุขภาพจิตตนเองได้
นางพัชรี คำธิตา พยาบาลจิตเวช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแม่ทา จังหวัดลำพูน กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ และปัญหาการคิดสั้น ได้ขยายตัวไปถึงระดับครอบครัวและชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้น โรงพยาบาลแม่ทา เห็นความสำคัญ พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้ประชาชน ชุมชน และเครือข่ายอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของปัญหา ซึ่งเป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๕๔ ด้วย
รูปแบบการสร้างเครือข่ายชุมชน เพื่อดูแลสุขภาวะทางใจ โรงพยาบาลแม่ทา ได้ส่งทีมออกไปสร้างความรู้ ความเข้าใจกับชุมชน เกี่ยวกับ “สัญญาณเตือน” ของอาการที่เป็นจุดเริ่มต้นการป่วยทางจิตเวช พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ มีการพัฒนาเครือข่าย “แกนนำ” โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้สามารถป้องกันและรักษาได้ตั้งแต่เริ่มแรก จนสถิติการฆ่าตัวตายของจังหวัดลำพูนค่อยๆ ลดลง
“เรามุ่งทำงานเชิงรุก ใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน กระตุ้นวิธีคิด สะท้อนวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม จนเกิดเป็นแผนงานและโครงการ ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ และบริบทของชุมชน พัฒนาเป็น นโยบายสาธารณะ ที่ทุกคนเข้ามาผนึกกำลังใส่ใจ ดูแล และห่วงใยกัน นำไปสู่การแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างยั่งยืน”
นางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ฟังว่า ในอดีตเคยเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าขาดความรักจากคนรอบข้าง ต้องเข้ารับการรักษาทางจิตเวช กระทั่งปัจจุบันหายดีแล้ว และเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครบำบัดดูแลผู้ป่วยทางจิต โดยมองว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดูแลแก้ไข ในอนาคตปัญหาจิตเวช จะกลายเป็น “ภาระโรค” ที่เป็นต้นทุนทางสังคมสูงมาก
“สังคมไทยแต่เดิม มีปัญหาผู้ป่วยทางกาย แต่ขณะนี้แนวโน้มของผู้ป่วยทางจิต เป็น ภัยเงียบ ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ไม่เพียงแต่การทำร้ายตัวเอง ยังทำร้ายผู้อื่นด้วย แต่เราสามารถป้องกันได้ ถ้าทุกฝ่ายหันมาใส่ใจ จึงอยากปลุกสังคมไทยให้ลุกขึ้นมาช่วยกัน โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต้องกระตุ้น ให้ระดับนโยบาย เห็นความสำคัญและตอบสนองต่อการแก้ปัญหา”
สำหรับการฆ่าตัวตายในส่วนของเด็กและครอบครัว ที่ปรากฎเป็นข่าวบ่อยครั้งในขณะนี้ ควรมีการให้ความรู้ตั้งแต่ระดับครอบครัว เพื่อร่วมกันสังเกตอาการได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ในเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจ หรือ โรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่จะมียีน(Gene) ติดตัวมาอยู่แล้ว เมื่อถูกกระตุ้นหรือเกิดความเครียด โรคก็จะปรากฎขึ้นทันที กลายเป็นความรุนแรงหรือการฆ่าตัวตาย
“การสร้างความเข้าใจต่อผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมควรศึกษา จึงอยากเสนอให้มีการบรรจุการเรียนรู้เรื่องโรคนี้ เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง หากมีสัญญาณในตัวเอง ก็จะเข้าสู่การรักษาได้โดยไม่ต้องอายใคร หรือกลัวว่าสังคมจะรังเกียจ เพราะเป็นภาวะที่รักษาให้หายได้”
อ.ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนมีบทบาทต่อสุขภาพจิตของคนไทยมากขึ้น เพราะข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลัก มักถูกคาดหวังจากผู้คนในสังคมว่า จะเข้ามาทัดทาน ตรวจสอบ กลั่นกรอง ยืนยัน กับข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในสื่อออนไลน์ และสื่อสังคม ยิ่งผู้คนปัจจุบันเสพข่าวมากขึ้น ทว่าคุณภาพข้อมูลข่าวสารกลับลดลง มีความน่าเชื่อถือต่ำลง มีอารมณ์นำพา ความโกรธ ความเกรี้ยวกราด อีกทั้งในสื่อออนไลน์ ยังมีข่าวสารเท็จ ข่าวลือ ข่าวโฆษณาชวนเชื่อทางสังคมและธุรกิจมากมาย ที่ล่อหลอกและปั่นกระแส ทั้งในเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคม เมื่อรวมๆ กันแล้ว ย่อมทำให้สภาวะข้อมูลข่าวสารเมืองไทยในภาพรวม มีภาวะตึงเครียด เรียกว่า ยิ่งเสพข่าวสารก็ยิ่งมีความเครียดทางสุขภาพจิตมากขึ้น
มองในอีกมุม “สุขภาพจิตของคนไทย” มีส่วนอย่างมากโดยตรงต่อจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ เพราะวันนี้ สื่อแข่งขันกันที่ความเร็ว แข่งขันกันที่ข่าวเร้าอารมณ์ แข่งขันกันที่ลีลาข่าวสารดราม่าและขายภาพข่าวรุนแรง ภาพคลิปวิดีโอเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ภาพจากกล้องวงจรปิด ภาพอุบัติเหตุรุนแรง ภาพการก่ออาชญากรรม ภาพความรุนแรงเหล่านี้มีลักษณะเปิดเผยและบ่อยถี่ซ้ำเหมือนๆ กันในทุกช่อง ยิ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ช่วยแชร์ช่วยเผยแพร่ซ้ำจนกลายเป็นความรุนแรงบ้าคลั่งที่ควบคุมไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้สุขภาพจิตด้านข้อมูลข่าวสารคนไทยยิ่งเคียดเค้นมากขึ้นไปอีก
ส่วนตัวมองว่า วิธีแก้ปัญญาบรรเทาภาวะความเค้นเครียดจากข้อมูลข่าวสารนี้ สื่อมวลชนควรทำหน้าที่ “ชะลอความเร็ว ตรวจสอบกลั่นกรองความถูกต้อง และเติมเต็มข้อมูลความรู้ให้มากขึ้น ลดอารมณ์และลีลาความเร่งเร้าลงไป คือช่วยให้คนไทยใจเย็นมากขึ้น มีสติรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าทันสื่อ และมีความคิดใคร่ครวญไตร่ตรองมากขึ้น นั่นจึงเป็นบทบาทที่สื่อมวลชนช่วยเหลือสุขภาพจิตคนไทยได้”
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143