- 156 views
นับจากที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น ๒ ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องการแพทย์และสาธารณสุข มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน มีมติที่เกี่ยวข้อง ๓๐ มติ และ คณะอนุกรรมการ ฯ ที่เกี่ยวข้องสุขภาพสังคมและสุขภาวะ มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน มีมติที่เกี่ยวข้อง ๓๔ มติ หวังยกระดับการทำงานติดตาม ขับเคลื่อน ให้เกิดรูปธรรมและมีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัด การประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาคัดเลือกมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่การขับเคลื่อนเชิงรูปธรรม ณ ห้องประชุมสุชน ๑ โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองประธาน คมส. เป็นประธานการประชุม เพื่อหาข้อสรุปในการจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกมติสมัชชาฯ ผลักดันไปสู่เป้าหมาย
ทั้งนี้ มีกรอบการพิจารณาจาก ๓ หลักเกณฑ์ คือ ๑. เป็นปัญหาที่สำคัญ (ขนาดของปัญหา/จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ/ความร้ายแรงเร่งด่วน) ๒. โอกาสความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสูง (มีองค์ความรู้, เครื่องมือ, ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสีย, สอดคล้องกับนโยบายรัฐ) และ ๓. กลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน
“ถ้าเราเอาประเด็นมาเป็นตัวตั้ง จะกว้างมาก เราต้องดูว่าสุดท้ายเราต้องการอะไรจากมติเรื่องนั้น ๆ เพราะประเด็นส่วนใหญ่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ต้องเลือกบางประเด็นที่มีศักยภาพเป็นจุดคานงัด สามารถนำประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เดินหน้าไปด้วยได้” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ด้าน รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ประธาน คณะอนุกรรมการ ฯ ที่เกี่ยวข้องสุขภาพสังคมและสุขภาวะ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องมองในการขับเคลื่อนนโยบาย คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหาร่วมกัน ของทุกภาคส่วน
“การขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ นั้น ในวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านมีใจ และพร้อมผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ถือเป็นโอกาสที่ดีในการขับเคลื่อน แต่อีกประเด็นที่ผมมองว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือการที่สังคมมองเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกัน ต้องให้ในระดับพื้นที่ได้ลองคิด ลองทำ ซึ่งอาจจะมีประเด็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่ความรู้สึกเป็นเจ้าของนั้น ก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนนโยบาย” รศ.วิทยา ระบุ
ที่ประชุม ได้พิจารณาเลือกมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แบ่งเป็น ส่วนของมติที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกันให้จัดรวมเป็น “กลุ่มมติ” และในส่วนของมติที่มีความสำคัญ แต่เนื้อหาไม่เชื่อมโยงกับมติอื่นใด ก็ให้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้โดยตรง
มติที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข ที่ประชุมเห็นควรให้ คมส.ขับเคลื่อนโดยเร่งด่วน ได้แก่ กลุ่มมติ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งแยกเป็น ๔ เรื่อง ประกอบด้วย มติ ๑.๖ ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มติ ๒.๕ ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ มติ ๓.๖ มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มติ ๖.๖ การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ อีกหนึ่งประเด็นที่เห็นควรดำเนินการให้เห็นรูปธรรมโดยเร็วคือ มติ ๖.๑ นโยบายตรวจสุขภาพที่จำเป็นสำหรับประชาชน
ในส่วนมติที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ได้แก่ กลุ่มมติ เด็กกับสื่อ แบ่งออกเป็น ๒ เรื่อง ประกอบด้วย มติ ๑.๙ ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว มติ ๕.๙ การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชั่วโมง : กรณีเด็กไทยกับไอที รวมทั้งมติหลักอีก ๒ ประเด็น คือ มติ ๒.๙ การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มติ ๕.๕ ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
“หลังจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ต้องกลับไปทำการบ้าน นำประเด็นที่คัดเลือกเหล่านี้ มาวาง Road Map โดยกำหนดเวลา ๓ เดือน ๖ เดือน ๑ ปี ๒ ปี ว่าเราต้องการบรรลุเป้าประสงค์อะไรในกรอบเวลาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มองเห็นว่าประเด็นใดมีปัญหาตรงจุดไหน หรือประเด็นใดสามารถรวมกันได้ จับเคลื่อนพ่วงกันไปได้” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องการแพทย์และสาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง ๒ คณะ จะเสนอประเด็นที่ได้คัดเลือกแล้วเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ชุดใหญ่ ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาและผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับมติอื่นๆที่นอกเหนือไปจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นว่า คมส.ก็ยังจำเป็นต้องเร่งรัด ขับเคลื่อน และสนับสนุนไปสู่ความสำเร็จ เพราะบางประเด็นมีความซับซ้อนหรือมีอุปสรรคในการทำงาน ก็ต้องช่วยกันสร้าง บูรณาการ ผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงวางกรอบการทำงานให้ชัดเจน และนำ พัฒนาการความสำเร็จในระดับย่อย (Small Success) มาขยาย “ต่อยอด” จนเกิดผลเป็นรูปธรรม ให้เห็นในวงกว้างจนครบทั้ง ๖๔ มติ ตามเป้าหมายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143