กลไก กขป. ปรับกลยุทธ เตรียมลุยงาน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ตัวแทน กขป. ทั่วประเทศ ร่วมประชุมทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนปี 2563 วางประเด็นยุทธศาสตร์ พร้อมตัวแทนหน่วยงาน 4 ส. “สธ.-สช.-สสส.-สปสช.” ร่วมถอดบทเรียน ระดมความเห็น-ออกแบบการดำเนินงาน
 
   เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2559 ด้วยความคาดหวังให้เป็นกลไกปฏิรูประบบสุขภาพ ด้วยการบูรณาการการทำงานและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกัน ภายใต้หมุดหมายสูงสุดคือใช้ “พื้นที่เป็นศูนย์กลาง”
 
   อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายและบริบทที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ จำเป็นต้องหลอมรวมผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคีเข้ามาร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการทำงาน นั่นทำให้เกิดเป็น คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) รวมทั้งสิ้น 13 คณะ 13 เขต และเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทน กขป.ทุกเขตจากทั่วประเทศได้พร้อมใจกันเดินทางมาเข้าร่วมประชุมทบทวนแนวทาง และปรับกลยุทธในการขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ กขป. ปี 2563
 
   ไฮไลท์จากการประชุมครั้งนี้ นอกจากการระดมสมอง แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพ ตลอดจนประเมินสถานการณ์และสภาพปัญหาต่างๆ ของแต่ละเขตเพื่อวางแผนการทำงานในอนาคตร่วมกันแล้ว ยังมีการเติมเต็มกระบวนการจาก “หน่วยงาน 4 ส.” ในฐานะกองหนุนสำคัญ
 
   อันประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
 
   สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สช. ให้ข้อมูลว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เขตสุขภาพเพื่อประชาชนทั้ง 13 เขตพื้นที่ มีประเด็นขับเคลื่อนรวมทั้งสิ้น 57 ประเด็น โดยประเด็นที่มีการขับเคลื่อนมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ อาหารปลอดภัย ผู้สูงวัย ขยะ อุบัติเหตุ และสุขภาวะพระสงฆ์
 
   ประเด็นที่นำไปสู่การขับเคลื่อน อาทิ การแก้ไขปัญหาหมอกควัน ในพื้นที่เขต 1 อาหารปลอดภัย ในพื้นที่เขต 2 การศึกษารูปแบบการจัดการอุบัติเหตุทางถนน ในเขตพื้นที่ 4 อาหารปลอดภัยเพื่อป้องกันแก้ไขพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในเขตพื้นที่ 7 และสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบางทางสังคม ในพื้นที่ เขต 12 เป็นต้น
 
   สำหรับการถอดบทเรียนของ กขป. ที่ผ่านมา “สมเกียรติ” ชี้ประเด็นว่า การทำงานของ กขป. นั้น เริ่มจากการปรับ Mind Set เปลี่ยนจากการใช้เงินเป็นตัวตั้งมาเป็นการสานพลังกรรมการ ซึ่งต้องปรับแนวคิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความไว้วางใจเป็นพื้นฐานก่อนในปีแรก จากนั้นจึงพัฒนากลไกจากปัญหาร่วม และวิเคราะห์ปัญหาในเชิงโครงสร้าง และ Mapping ต้นทุนในพื้นที่ ค้นหาคนทำงานจริง
 
   ส่วนความท้าทายในระยะต่อไป ผอ.สมเกียรติ สรุปว่า ต้องเชื่อมร้อยกลไกต่างๆ สร้างการทำงานที่ชัดเจน สื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจว่า กขป. คืออะไร พร้อมวางแนวทางการบูรณาการ วิเคราะห์ปัญหาให้ชัด สร้างพันธมิตร สร้างความร่วมมือ รวมทั้งมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก
 
   ทางด้านตัวแทน กขป. ที่ร่วมประชุมในวันนี้ยังได้ร่วมกันสะท้อนสิ่งที่ค้นพบหลากหลาย ทั้งที่มองว่า กขป. เป็นกลไกที่ช่วยกระจายอำนาจ มีอิสระ สามารถสร้างเอกภาพให้ภาคีที่กระจัดกระจายได้มีเป้าหมายร่วมกัน ขณะเดียวกันยังมีอุปสรรคเรื่องของบทบาท หรือความไม่เข้าใจต่อ กขป. รวมถึงด้านงบประมาณ
 
   ฟากฝั่งประเด็นแลกเปลี่ยนจากตัวแทนหน่วยงาน 4 ส. ไม่ว่าจะเป็น นพ.ประจักษ์วิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. ให้ความเห็นว่า บางประเด็นที่ สปสช.ขับเคลื่อนอยู่ เมื่อมีการขับเคลื่อนผ่านกลไก กขป. ทำให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เช่น เรื่องผู้สูงอายุ ธรรมนูญพระสงฆ์ หรือพัฒนาการเด็ก อย่างไรก็ตามยังคงมีคำปรามาศถึง กขป.ว่ามีกรรมการเยอะ การขับเคลื่อนงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่ทำอยู่แล้วหรือไม่ จึงอยากฝากถึง กขป. ว่าควรให้ความสำคัญของการบันทึกผลสำเร็จ
 
   ขณะที่ พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ได้ชื่นชมและให้กำลังใจ กขป. ที่มีความมุ่งมั่น แต่เป็นอำนาจอ่อนที่ไม่สามารถบังคับใครได้ จึงเป็นความท้าทายในการประสานกับอำนาจแข็ง ดังนั้นสิ่งที่เดินหน้าต่ออาจต้องออกแรงมากขึ้น พร้อมปลุกปั้นเรื่องบริหารจัดการต่อไป
 
   ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เน้นย้ำถึงภารกิจของ สช. ในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พร้อมกับยุทธศาสตร์ที่จะสานพลังระดับตำบล ระดับจังหวัด และการทำงานร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
 
   “ขณะนี้เรามีความท้าทายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่มีแนวโน้มมากขึ้นและกว้างขึ้น รวมถึงความขัดแย้ง ที่ส่งผลมาจากการเมือง ควบคู่กับนโยบายรัฐที่มุ่งหนักไปทางมิติเศรษฐกิจ ดังนั้นทุกส่วนจะต้องเดินหน้าเพื่อทะลุปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน” นพ.ประทีป ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา