- 259 views
สช.เปิดเวทีคิกออฟ "กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ชุดที่ 2" วางเป้าเป็นกลไกบูรณาการ-พัฒนาระบบสุขภาพทั้ง 13 เขต มุ่งเชื่อมประสานหน่วยงาน-องค์กร-ประชาชน ร่วมแก้ประเด็นปัญหาสุขภาพที่สอดคล้องบริบทพื้นที่ ทั้งโควิด-19 และวิกฤตการณ์ในอนาคต
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดงาน Kick Off เขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 1-13 (ชุดที่ 2) เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นเวทีกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงาน และเป็นการประชุมนัดแรกของกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ชุดที่ 2 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในการเปิดงาน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กขป.เป็นกลไกการทำงานแบบบูรณาการ ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมเข้ามาปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องต่างๆ โดยยึดหลักการสร้างสังคมสุขภาวะให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีระเบียบในการแต่งตั้ง กขป.ขึ้น ได้ทำให้เห็นภาพความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ทั้ง 13 เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งได้มีการแก้ปัญหาและการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่มาโดยตลอด
สำหรับการเคลื่อนประเด็นสุขภาพต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบสุขภาพชุมชน การดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ตลอดจนสุขภาวะพระสงฆ์ ล้วนเป็นการทำงานจากฐานที่ค่อยๆ สร้างเครือข่ายเชิงบูรณาการขึ้น และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ ที่นำมาสู่การรับมือกับวิกฤตด้านสุขภาพต่างๆ ได้ ดังจะเห็นได้จากวิกฤคโควิด-19 ในปัจจุบันที่ชุมชนต่างๆ ได้ลุกขึ้นมาเป็นกำลังเข้มแข็งในการเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือจัดทำศูนย์พักคอยต่างๆ
"สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน และกลไกนี้ก็ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ ภาควิชาการ รวมถึงภาคประชาชน ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกันในแนวราบ ที่จะช่วยสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพในพื้นที่ อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยต้องรับมือกับวิกฤตการณ์โควิดขณะนี้ จุดแข็งของ กขป. ที่ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมเป็นฟันเฟืองเสริมพลัง ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาร่วมกัน ในที่สุดเราก็จะสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันอย่างแน่นอน" นายอนุทิน กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ได้มีการจัดตั้ง กขป. ชุดแรกขึ้น เพื่อเป็นกลไกกับขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่ยึดโยงการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในระดับพื้นที่ ทำให้ได้พบกับความท้าทายในส่วนต่างๆ เช่น ข้อจำกัดของการขับเคลื่อน เนื่องจากผู้แทน กขป.ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเครือข่ายที่มีโครงสร้างโดยตรงต่อการกำหนดนโยบาย หรือการที่ยังขาดความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของ กขป. เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาและประเมินจึงเกิดข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ของ กขป.ชุดใหม่ ที่จะต้องมีองค์ประกอบของผู้ที่มีคุณสมบัติและมีศักยภาพ เสริมบทบาทในการเป็นพื้นที่ประสานนโยบายและความร่วมมือระดับเขต โดยมีแนวทางการทำงานในลักษณะเป็นกลไกบูรณาการในพื้นที่ แทนการที่จะไปทำหน้าที่กำหนดนโยบายหรือขับเคลื่อน เช่นเดียวกับกระบวนการทำงาน ที่จะพัฒนาและใช้ระบบข้อมูลร่วม มุ่งเน้นการบูรณาการทรัพยากรในเขตพื้นที่ และมีการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจต่อบทบาทของ กขป.ให้มากขึ้น
"โดยสรุปแล้วบทบาทและแนวทางการทำงานของ กขป.ชุดใหม่ ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2564-2568 คือจะเป็นกลไกบูรณาการเป้าหมาย แผนงาน หรือการทำงานร่วมของหน่วยงานและองค์กรในเขตพื้นที่ มากกว่าที่จะเป็นกลไกกำหนดนโยบายหรือขับเคลื่อนประเด็นของตัวเอง ร่วมกับที่จะเป็นกลไกสนับสนุนการสร้าง ขยาย และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในเขตพื้นที่ ทั้งหน่วยงาน องค์กร และภาคประชาสังคม" นพ.ประทีป ระบุ
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า เวทีนี้นับเป็นการประชุมครั้งแรกของ กขป. ชุดที่ 2 ที่ได้ผ่านกระบวนการสรรหาและมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือน ก.ย.นี้ อาจจะมีการจัดเวทีเวิร์คช็อปเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนการทำงานอย่างจริงจังของ กขป.ชุดนี้ รวมถึงในเดือน ต.ค.-พ.ย. ที่อาจจะมีกิจกรรมร่วมกันในแต่ละเขตเป็นครั้งแรก โดยเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อรองรับกับการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่จะมีขึ้นในเดือน ธ.ค.ต่อไป
สำหรับเวที Kick Off ในครั้งนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนพันธสัญญาความร่วมมือเพื่อสนับสนุนภารกิจ กขป. ระหว่างหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก สช. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงในการสนับสนุนการทำงานของ กขป. เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการการทำงานสู่เป้าหมายต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141