- 46 views
คสช.เสนอครม.เดินหน้า ส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พร้อมดันเป็นวาระแห่งชาติ และวาระท้องถิ่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพิ่มเส้นทางและจุดจอดจักรยานในสถานที่ราชการทั่วประเทศ หนุนมหาวิทยาลัยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นพื้นที่ต้นแบบ
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ ๔/๒๕๕๖ มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ชั้น ๕ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล เห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสนับสนุนกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ฯจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเข้าร่วม
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า แนวทางการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และคนเดินเท้า โดยควรเร่งปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย และมาตรการต่างๆให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวโน้มของการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางระยะสั้น ๑-๕ กิโลเมตร ด้วยการใช้จักรยานและการเดินมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคมะเร็งอีกด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน รักษาสิ่งแวดล้อม และประหยัดการใช้พลังงาน
ทั้งนี้ นายพงษ์เทพ สรุปว่า กรรมการสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนมติส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยเน้นสร้างรูปธรรมความสำเร็จที่จับต้องได้ ควรริเริ่มนำร่องในมหาวิทยาลัย ๑๒๐ แห่งทั่วประเทศ และ องค์การบริหารส่วนตำบลทุกพื้นที่ เป็นต้นแบบในการส่งเสริมการเดินและการขี่จักรยาน ทั้งนี้เห็นว่าเรื่องความปลอดภัยของคนเดินและใช้จักรยาน เป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคสช.ในครั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยต้องกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งแต่ละมาตรการใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน ขณะนี้ได้มีหลายหน่วยงานตื่นตัวและรณรงค์เรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างมาก อาทิ โครงการ ปัน ปั่น ของทางกรุงเทพมหานคร เริ่มมีสถานีจอดจักรยานให้ประชาชนสามารถยืมและคืนได้ในย่านชุมชนที่หนาแน่น
นอกจากนี้ คสช. ยังมีมติยืนยันหลักการให้สังคมไทยปลอดการใช้แร่ใยหินโดยเร็วที่สุด โดย เห็นด้วยกับข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เสนอไปยังสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี ให้ครม.พิจารณาทบทวนแผนและกรอบระยะเวลาในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเบื้องมุงหลังคาลอนใหญ่และลอนคู่ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอกรอบระยะเวลา 5 ปี เป็น 2 ปี เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภท มีวัตถุดิบอื่นและผลิตภัณฑ์อื่นใช้ทดแทนแล้ว และมีบริษัทผู้ผลิต หลายรายที่ปรับเปลี่ยนมาผลิตกระเบื้องมุงหลังคาไร้แร่ใยหินได้แล้ว ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนงานและผู้บริโภค รวมทั้งเตรียมเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศด้วย
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140