กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เร่งสานพลังรับมือสังคมสูงอายุ ย้ำผู้สูงวัยไม่ใช่ภาระ ต้องเป็นพลังสังคม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   รองนายกรัฐมนตรี (พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย) ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับภารกิจสร้างระบบรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างมาก ทุกฝ่ายต้องร่วมมือทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรม มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบรองรับสังคมผู้สูงวัยด้านสุขภาพ รับมือสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี ๒๕๖๔ เน้นหัวใจความสำเร็จอยู่ที่ต้อง “แปรภาระให้เป็นพลัง” ให้ได้
 
   ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ รองนายกรัฐมนตรี(พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย) ประธานกรรมการฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร) รองประธานกรรมการฯ พร้อมกรรมการจากหน่วยงานของรัฐ สภาวิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนองค์กรประชาชนจากพื้นที่ ร่วมพิจารณาแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อรับมือสังคมสูงอายุของไทยในอนาคต ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่า โครงสร้างประชากรไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ในอีก ๕ ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.๒๕๖๔ ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) โดย ๑ ใน ๕ ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป และในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.๒๕๗๘ อัตรานี้จะสูงถึงร้อยละ ๓๐ กลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society)
 
   ขณะนี้พบว่า มีกลไก กิจกรรมมุ่งทำงานเรื่องผู้สูงอายุมากมาย เช่น มีคณะกรรมการฯ ภายใต้พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.๒๕๕๖ ที่เป็นร่มใหญ่ มีการจัดทำแผนบูรณาการงานสังคมของ ๙ หน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มหาดไทย แรงงาน ศึกษาฯ วิทยาศาสตร์ฯ ท่องเที่ยวฯ สาธารณสุข สปสช. และ สสส. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ขณะที่ข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรีว่าต้องปฏิรูประบบรองรับสังคมผู้สูงอายุในภาพรวม ๔ ด้านพร้อมกัน คือ ๑) ด้านเศรษฐกิจ สร้างหลักประกันรายได้และศักยภาพผู้สูงอายุ ๒) ด้านสังคม ครอบครัว ชุมชน เอกชน รัฐ ต้องเตรียมพร้อมเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ๓) ด้านการปรับสภาพสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ต้องสร้างชุมชนน่าอยู่ บ้านปลอดภัยวัยเกษียณ และ ๔) ด้านสุขภาพ สร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ปฏิรูประบบบริการและระบบดูแลสุขภาพชุมชนเมือง ในระดับพื้นที่ก็มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมด้านผู้สูงอายุจังหวัด สาขาสมาคมผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุ แต่การดำเนินงานเหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติได้เต็มที่ ติดขัดทั้งที่ทุกหน่วยงานมีตัวชี้วัดเฉพาะ และขาดกลไกประสาน บูรณาการงาน
 
   พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฯ กล่าวว่า “รัฐบาลนี้มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ขณะนี้ได้เดินหน้าเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติไปแล้ว เรื่องนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งนี้ การปฏิรูปเพื่อระบบรองรับสังคมผู้สูงวัยนั้น หัวใจหรือกุญแจแห่งความสำเร็จคือตัวผู้สูงอายุเอง ต้องแปรมุมมองของสังคมที่เห็นผู้สูงอายุเป็นภาระให้เห็นเป็นพลังสังคม ให้เห็นศักยภาพ เห็นคุณค่าในตัวผู้สูงอายุ จะทำเช่นนี้ได้ ผู้สูงอายุต้องเห็นคุณค่าของตนเอง ต้องเตรียมความพร้อมตนเอง โดยครอบครัว ชุมชน รัฐ ร่วมสนับสนุน”
 
   ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ในการสนับสนุนให้มีกระบวนการในการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้เร่งบูรณาการแผนทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมทุกมิติ เพื่อสร้างระบบรองรับสังคมสูงอายุในอนาคตโดยเริ่มจากด้านสุขภาพ จึงมีมติมอบหมายให้ สช. เป็นหน่วยประสานและสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานและภาคีองค์กร เครือข่ายต่างๆขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อมุ่งให้ผู้สูงอายุไทยกลายเป็นพลังสังคมที่สำคัญ มากกว่าเป็นภาระสังคม
 
   ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองประธานกรรมการฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า “ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ นี้ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้จับมือกันดำเนินโครงการดูแลผู้สูงอายุทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างครบวงจร โดยเน้นที่กลุ่มติดบ้าน ติดเตียงก่อน ตามข้อมูลกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ ๑.๘ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๕ ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยได้จัดสรรงบประมาณกว่า ๖๐๐ ล้านบาท ทำงานผ่านทีมหมอประจำครอบครัว รพ.สต. และอาสาสมัครสาธารณสุข ระยะแรกจะเริ่มที่ ๘๐๐-๑,๐๐๐ หมู่บ้านก่อน จะมีการประเมินผลในช่วงปลายปีด้วย ดังนั้นการที่ สช. จะมาช่วยเป็นหน่วยประสานความร่วมมือในเรื่องนี้เป็นบทบาทที่สมควร และกระทรวงสาธารณสุขยินดีร่วมในการดำเนินงานดังกล่าวอย่างเต็มที่”
 


  ขอบคุณ clip จาก www.healthstation.in.th และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สสส.

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ