- 25 views
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานสร้างการรับรู้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ผ่านเวทีนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ 102 เวทีทั่วประเทศ โดยใช้กระบวนการ “สมัชชา” หาประเด็นที่พื้นที่สนใจภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างแผนงานขับเคลื่อนต่อไป พร้อมใช้ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ดึงชุมชนริมคลองมีส่วนร่วมกำหนดกติกาดูแลฟื้นฟูคลองเปรมประชากร อีกทั้งมอบสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ประสานทุกภาคส่วนขับเคลื่อน “โครงการรวมพลังคนไทย เอาชนะภัยท้องถนน” สร้างมิติใหม่ในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้ประเทศสูญเสียปีละสองแสนล้าน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงสาระสำคัญจากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ณ ห้อง301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงาน โครงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับการประสานงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้จัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ โดยใช้จุดแข็งของ สช. ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการ “สมัชชา” มากว่า 10 ปี
ผลจากการที่ สช. ได้จัดเวทีสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนรวม 102 เวทีทั่วประเทศ ตั้งแต่ตุลาคม 2561 - มีนาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน กว่า 15,000 คน ช่วยให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยผู้เข้าร่วมเวทีได้วิเคราะห์ประเด็นของพื้นที่ที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติและ 22 ประเด็นการปฏิรูปที่มีความสำคัญเร่งด่วน (Flagship) ของแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน
ตัวอย่างความสอดคล้องของประเด็นของพื้นที่กับยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขัน สอดคล้องกับประเด็นย่อยเรื่องเกษตรสร้างมูลค่าที่เสนอในเวทีจังหวัดนครปฐม น่าน อุดรธานี สระแก้ว ขณะที่เวทีจังหวัดตราด ชุมพร อำนาจเจริญ มุกดาหาร เสนอประเด็นความหลากหลายด้านท่องเที่ยว เวทีจังหวัดปทุมธานี ราชบุรี สกลนคร พัทลุง เสนอประเด็นอุตสาหกรรมและบริการ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในเวทีจังหวัดพะเยา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เสนอประเด็นกระจายศูนย์กลางความเจริญ ส่วนจังหวัดพิษณุโลก ลำพูน อุตรดิตถ์ เสนอประเด็นเพิ่มขีดความสามารถชุมชนท้องถิ่น สำหรับเวทีกรุงเทพนั้นเสนอประเด็นสังคมเป็นมิตรสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประเด็นการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น โดย สช. จะรวบรวมสรุปประเด็นและข้อคิดเห็นจากทุกเวทีเพื่อส่งให้ สศช. ใช้วางแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่ตรงกับความต้องการของประชาชนต่อไป
ที่ประชุมยังมีมติรับทราบการดำเนินงาน โครงการธรรมนูญชุมชนคนคลองเปรม พ.ศ.2562: อนุรักษ์และฟื้นฟูคลองเปรมประชากรอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดย สช. ได้รับการประสานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้สนับสนุนการใช้ “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งเป็นเครื่องหนึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการดำเนินงาน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ว่า “โครงการธรรมนูญชุมชนคนคลองเปรมฯ จัดทำขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและประชาชนสองฝั่งคลองตลอดทั้งสาย และสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำธรรมนูญชุมชนคนคลองเปรม ซึ่งธรรมนูญก็คือข้อตกลงหรือกติการ่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และจัดการทรัพยากรน้ำ และยังเป็นการนำร่องการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ในกรุงเทพมหานครอีกด้วย”
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบบทบาทของ สช. ในการทำงานประสานหน่วยงานที่ทำงานด้านการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน โครงการรวมพลังคนไทย เอาชนะภัยท้องถนน พ.ศ. 2562 - 2563 เนื่องจากที่ผ่านมาอุบัติเหตุทางถนนสร้างความสูญเสียมหาศาลแก่ประเทศไทย และแม้ระดับนโยบายได้กำหนดให้ ปี พ.ศ. 2554 - 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) มีหน่วยงานที่ดำเนินงานเรื่องนี้จำนวนมาก แต่โดยสถิติแล้วความสูญเสียยังไม่ลดลง ทำให้องค์กรด้านสุขภาพ ทั้ง สช. สสส. สปสช. สพฉ. สวรส. และกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกันและพัฒนาแนวคิดการรวมพลังคนไทยเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของชาติ โดยได้เปิดเวที Road Safety Forum ระดมความเห็นจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มูลนิธิ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาโครงการนี้ขึ้น มุ่งให้เกิดการเชื่อมโยง บูรณาการ และหนุนเสริมการดำเนินงานของกันและกัน โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานทั้งเป้าหมายเชิงนโยบาย มุ่งให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทียุทธศาสตร์ถนนปลอดภัยที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายทางวิชาการที่มุ่งให้ได้บทเรียนชุดความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนของพื้นที่รูปธรรม และเป้าหมายเชิงพื้นที่ มุ่งขยายผลตัวอย่างกรณีศึกษาของโครงการและองค์กรที่ดำเนินงานอยู่แล้ว เช่น กิจกรรม Road Safety ที่กองทุน สสส. สนับสนุนการดำเนินงานอยู่ในหลากหลายพื้นที่
ทั้งนี้ ตามรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก จัดทำโดยองค์การอนามัยโลกปี 2015 พบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 1.25 ล้านคน ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประมาณการว่าเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยข้อมูลจากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ และบริษัทกลางฯ พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึงปีละ 23,000 – 24,000 คน หรือชั่วโมงละ 3 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มีจำนวนการเสียชีวิตมากที่สุด สาเหตุสำคัญได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และการดื่มแล้วขับ
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143