- 76 views
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) สนับสนุนแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายในคนไทยทุกช่วงวัย เน้นหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมบูรณาการเรื่องนี้เข้าสู่ชีวิตประจำวัน หวังลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เริ่มแล้วหลายพื้นที่ตื่นตัวทำทันที ทำทุกคน ไม่รอรณรงค์ จังหวัดเลยนำหน้าส่งเสริมออกกำลังกายต่อเนื่อง ๖ เดือนจากพบคนน้ำหนักเกินหรืออ้วนมีกว่าร้อยละ ๕๐ จากกลุ่มเป้าหมายกว่า ๕๐,๐๐๐ คน เห็นผลน้ำหนักรวมลดลงมากกว่า ๓๕,๐๐๐ กก. นอกจากนี้ คสช.ยังมีมติเห็นชอบให้ส่ง ๔ มติที่ได้จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ เข้า ครม. เพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ
วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๓ ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๖๐ เรื่องส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบ ๔ มติสำคัญที่ได้จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๒ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมาด้วย
ดร.สาธิต กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๖๐ เรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ที่เกิดจากฉันทมติของผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การมีแผนระดับชาติ คือ แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.๒๕๖๑ - ๒๕๗๓ ซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้คนไทยสุขภาพแข็งแรง ลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) โดยคำว่า ‘กิจกรรมทางกาย’ ไม่ใช่เพียงการออก กำลังกาย แต่ครอบคลุมการใช้แรงของร่างกายทุกอย่าง ไม่ว่าการเดินทาง การทำงาน การทำกิจกรรม สันทนาการ และในปี ๒๕๖๓ นี้กระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ผ่าน ‘โครงการก้าวท้าใจ’ ที่จะเน้นรณรงค์กับผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย เริ่มต้นจากบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข เป้าหมายซีซั่นแรกของปีนี้คือ 4 แสนคน ขณะนี้มีคนสมัครแล้วราว 1.3 แสนคน โดยทุกคนจะโหลดแอพลิเคชั่นเพื่อบันทึกการใช้กำลังกายแล้วแข่งขันกัน ทำให้เรื่องการออกกำลังกายมีความน่าตื่นเต้นขึ้นและสามารถพ่วงกับอุปกรณ์สมาร์ทวอทช์ที่คนนิยมใช้กันมากขึ้นได้
สำหรับความคืบหน้าของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในหน่วยงานต่างๆ นั้น ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า“หลายหน่วยงานได้นำเรื่องนี้บูรณาการเข้าไปสู่แผนงานของตนเอง เช่น กระทรวงมหาดไทยมีนโยบาย ๑ อำเภอ ๑ สวนสาธารณะให้ชุมชนและสนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจัดสร้างสนามเด็กเล่น องค์กรวิชาชีพสถาปนิกเอง ก็มาร่วมพัฒนาคู่มือการออกแบบผังเมืองที่จะส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้ท้องถิ่นนำไปใช้ได้จริง รวมถึงหน่วยงานอย่าง สสส.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาโครงการที่จะของบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลให้มีเรื่องกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปีที่ผ่านมามีแผนงานเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายราว ๗๐๐ แผนงาน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีบทบาทขับเคลื่อนนโยบาย Sport Economy ส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ active lifestyle ในสถานประกอบการต่างๆ”
รูปธรรมการทำงานในพื้นที่ขณะนี้มีมากมาย ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ยกตัวอย่าง จังหวัดเลย มีโครงการ ‘เลยขยับเท่ากับแสน’ตั้งเป้าให้ประชากรออกกำลังกายลดน้ำหนักให้ได้รวมกัน ๑๐๐,๐๐๐ ก.ก. เบื้องต้นมีการวัดน้ำหนักกลุ่มเป้าหมาย ๕๐,๐๐๐ คนตลอด ๖ เดือน พบว่า ผู้มีน้ำหนักเกิน หรือ BMI๒๓ ขึ้นไป มีอยู่ราว ๒๓,๐๐๐ คนหรือเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อจบโครงการสามารถลดน้ำหนักได้รวมกัน ๓๕,๗๑๗ ก.ก. คิดเป็นประมาณร้อยละ ๓๕ ของน้ำหนักเป้าหมายรวมแต่เริ่มแรก นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและ ทำให้ท้องถิ่นต่างๆ เริ่มตื่นตัวสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า นอกเหนือจากสนับสนุนแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายในคนไทยทุกช่วงวัยแล้ว ที่ประชุม คสช. ยังได้ติดตามความก้าวหน้าของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ๑.การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ๒.การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ ๓.การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา และ ๔.การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง
เลขาธิการ คสช. เปิดเผยต่อว่า ที่ประชุมคสช. ยังได้รับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ซึ่งมีมติสำคัญ ๔ เรื่อง ได้แก่ ๑.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ๒.วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว ๓.รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง ๔.การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง และได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติทั้ง ๔ เข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147