สช.ชวนเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพ แนะทุกฝ่ายปรองดอง ไม่ถอยหลังเข้าคลอง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

    สช. แนะใช้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ เรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” เป็นแนวทางเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพ เสนอกระทรวงสาธารณสุขปรับแนวคิดและรูปแบบจากการอภิบาลโดยรัฐ ที่มุ่งบริหารจากส่วนกลาง สู่การอภิบาลแบบเครือข่าย เพื่อยกระดับให้บริการสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง พร้อมเปิดเวทีสานพลัง แสวงหาแนวทางร่วมในการขับเคลื่อนมติ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ลดความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น
 
   เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดแถลงข่าว สช.ชวนปฏิรูประบบสุขภาพ บนวิถีความปรองดอง เพื่อเสนอแนวทางขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ที่จัดเมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีฉันทมติในประเด็นข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญบางตอนว่า ต้องให้ความสำคัญกับการอภิบาลระบบสุขภาพโดยเครือข่าย เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการอภิบาลระบบโดยรัฐ และการอภิบาลระบบโดยตลาด บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ในระบบสุขภาพแห่งชาติ เน้นการมีส่วนร่วม สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ลดการรวมศูนย์การอภิบาลระบบสุขภาพโดยรัฐ กระจายอำนาจ ทุน และทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่น...กำหนดแผนและขั้นตอนการถ่ายโอนสถานพยาบาลของรัฐให้ท้องถิ่น...ปรับเปลี่ยนสถานบริการของรัฐให้เป็นระบบบริหารจัดการที่คล่องตัว (Public Autonomous Management Unit) ให้จริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อบริการประชาชนให้ทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศ และลดภารกิจการบริหารจัดการของรัฐบาลกลางลง...”
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข และเรื่องการสร้างสุขภาวะที่กว้างขวางกว่านั้น ที่ผ่านมา ได้ปฏิรูปและพัฒนาอย่างก้าวหน้ามาตามลำดับ จนได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จ คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นอย่างทั่วถึงตามสิทธิขั้นพื้นฐาน การสร้างเสริมสุขภาพและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพด้านต่างๆ ที่คนไทยทุกภาคส่วนมีโอกาสร่วมคิด ร่วมทำ โดยไม่ต้องรอภาครัฐเพียงอย่างเดียว ทั้งหมด เป็นการบริหารจัดการหรือการอภิบาลแบบเครือข่าย (Governance by network) ที่มีหน่วยงาน องค์กร ภาคีต่างๆเข้ามาเป็นผู้เล่นเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับทิศทางการจัดการหรือการอภิบาลบ้านเมือง ในยุคที่สังคมมีความสลับซับซ้อน ไม่ไช่เพียงแค่ การอภิบาลโดยรัฐ(Governance by government) เท่านั้น
 
   สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐ ในระบบสุขภาพตามแนวการอภิบาลโดยรัฐ มีความสำคัญสูงมาก ในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาลในด้านสุขภาพ จึงควรหันมาทำหน้าที่ เอื้ออำนวยระบบสุขภาพแห่งชาติ เชื่อมประสานพลังทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันเพื่อช่วยกันทำงานสนองประชาชน เพราะทุกวันนี้ปัญหาสุขภาพต่างๆยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขจะบริหารจัดการได้เองตามลำพังอีกต่อไปแล้ว โดยต้องลดบทบาทคิดเอง จัดการทุกเรื่องเอง แบบรวมศูนย์อำนาจอย่างในอดีตลง ให้เหลือเฉพาะบางเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เช่น การควบคุมป้องกันโรค การจัดการปัญหาสุขภาพจากภัยพิบัติ การควบคุมกำกับมาตรฐานคุณภาพ การรักษากฎหมาย สร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ และการกำหนดนโยบายที่สำคัญระดับชาติ เป็นต้น
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับท่าทีของกระทรวงสาธารณสุขต่อการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สร้างความสับสนและสั่นคลอนความไว้วางใจกันของภาคส่วนต่างๆในระบบสุขภาพ และอาจบานปลายกระทบต่อประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบ รัฐสวัสดิการ ที่รองรับสิทธิด้านสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน และเป็นระบบที่นานาอารยประเทศให้การยอมรับสูง ซึ่งในอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมากได้ทดลอง เตรียมการ และร่วมกันผลักดันเป็นเวลานาน กว่าจะบรรลุผลสำเร็จเมื่อปี ๒๕๔๕ กระทรวงสาธารณสุขจึงควรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในทุกทางเพื่อให้ระบบนี้เจริญก้าวหน้าเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนยิ่งขึ้นไป
 
   “อยากฝากถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นน้องๆว่า กว่าที่ประเทศไทยจะผลักดันจนมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมาได้ ต้องใช้เวลานานและยากเย็นมาก จึงเป็นการดีที่กระทรวงสาธารณสุขจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทุกวิถีทาง ทำให้ระบบนี้เจริญก้าวหน้าให้มากที่สุด วันนี้ไม่ควรมีการแบ่งเขาแบ่งเรา เพราะทั้งหมดนี้ไม่ไช่ของเขา-ของเรา แต่เป็นของประเทศชาติและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดภาคส่วนใด ล้วนมีบทบาทหน้าที่และมีความสำคัญต่อการจัดการในระบบสุขภาพทั้งสิ้น ปัจจุบัน ไม่ไช่ยุคสมัยที่กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียว มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคนเดียวต่อไปอีกแล้ว การคิดและทำเช่นนั้น จะกลายเป็นการถอยหลังเข้าคลอง สร้างความแตกแยก ซึ่งผลเสียก็จะตกแก่ประชาชนที่กลายสภาพเป็นตัวประกันไปโดยปริยาย” นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าว
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า อยากให้กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณานำข้อเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ เรื่อง การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ไปหาทางขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบบริการ ระบบการเงินการคลังและหลักประกันสุขภาพ และการอภิบาลระบบสุขภาพแบบเครือข่าย เป็นต้น
 
   ในฐานะที่ สช.เป็นส่วนประกอบหนึ่งของระบบสุขภาพ มีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ สช.จะจัดเวทีประชุมปรึกษาหารือขึ้นในเร็วๆนี้ โดยเชิญผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรึกษาหารือกัน เพื่อสร้างความเข้าใจกัน เรียนรู้ร่วมกัน แสวงหาแนวทางการขับเคลื่อนมติการปฏิรูประบบสุขภาพให้ไปในทิศทางเดียวกันกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ลดความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศการปรองดองและการคืนความสุขให้แก่ประชาชนต่อไป” นพ.อำพล กล่าว
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ