- 56 views
สช. เปิดเวทีเตรียมความพร้อมแกนนำภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศกว่า 500 คน เน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต่อร่างข้อเสนอ 6 ระเบียบวาระ สร้างสุขภาวะคนไทย เข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ปลายเดือน ธ.ค.นี้ เตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศปลายเดือนพ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อมกลุ่มเครือข่ายพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจต่อเนื้อหาสาระของ 6 ประเด็นสุขภาพที่เป็นระเบียบวาระการประชุมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 โดยมีภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 500 คน
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่ายฯ กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จะมีการพิจารณาข้อเสนอนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ 6 ระเบียบวาระ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ซึ่งมีนายเจษฎา มิ่งสมร เป็นประธาน ได้จัดทำเอกสารอธิบายเนื้อหาสาระและร่างข้อเสนอที่จะพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการส่งไปยังเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกว่า 2,000 องค์กร ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงาน/สถาบันวิชาการ ภาคธุรกิจ องค์กรเอกชน และประชาสังคมในพื้นที่
“แนวคิดเรื่องสุขภาพโดยคนทั้งมวลเพื่อคนทั้งมวล ถือเป็นหลักการสำคัญของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว มีเป้าหมายสร้างสังคมสุขภาวะที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคมและปัญญา ไม่ใช่แค่เรื่องหมอหรือยาเพียงเท่านั้น”
สำหรับ 6 ระเบียบวาระการประชุมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 ประกอบด้วย 1. การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยง, 2.การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย, 3.การพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ, 4.การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน, 5.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย และ 6.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ
นพ.อำพล อีกกล่าวว่า การจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมต้องดำเนินการเพื่อคนส่วนรวม โดยมีฐานข้อมูลทางวิชาการรองรับ ไม่ใช่เป็นเพียงข้อคิดเห็นเท่านั้น รวมทั้งต้องนำมติกลับไปทำงานในเชิงพื้นที่เพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนและรู้สึกเป็นเจ้าของนโยบายนี้ร่วมกัน“วันนี้เป็นเวทีเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเครือข่ายครั้งแรก ซึ่งเป็นแกนนำภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ ที่จะนำความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นสุขภาพไปสื่อสารกับสมาชิกในแต่ละจังหวัดที่ สช. สนับสนุนให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อเอกสารและร่างมติทั้ง 6 ระเบียบวาระในระหว่างวันที่ 24-30 พ.ย. นี้ และ สช. จะจัดเวทีเตรียมความพร้อมสำหรับภาคีเครือข่ายที่เหลือ คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ชุมชนและเอกชนอีกครั้ง ในวันที่ 20 พ.ย. นี้ ที่เอบีนาเฮ้าส์ หลักสี่”
จากนั้น เวทีรับฟังความคิดเห็นเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและคุณค่าของการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” โดยนางเบญจา รัตนมณี แกนนำประสานงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดชุมพร กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเวทีที่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างมีเหตุผล สมานฉันท์ ถือเป็นกระบวนการที่มีคุณค่า แม้จะมีอุปสรรคในการขับเคลื่อนเวทีในเชิงพื้นที่อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าความตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นช่วยแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้
ด้าน นางศิริพร ปัญญาเสน นายกสมาคมบทบาทสตรีและเยาวชน จังหวัดลำปาง กล่าวว่า การผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพให้เกิดขึ้นตามแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คืออาศัยพลังทั้งในภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง สร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในระยะยาว จึงอยากให้เครือข่ายเห็นคุณค่าที่เกิดขึ้น เปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และร่วมกันทำงานเพื่อเกิดประโยชน์ในภาพรวม
นายดิษณ์กร สิงห์ยะเมือง นักวิชาการสาธารณสุข จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือ ต้องสื่อสารให้ชุมชนและเครือข่ายเข้าใจ อาจใช้ช่องทางวิทยุชุมชนที่เป็นสื่อหลักของพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้กับเครือข่ายได้รับทราบ และต้องคัดเลือกเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระนั้น จึงสามารถนำมติไปขับเคลื่อนได้จริงๆ โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานจัดเวที เพื่อเกิดความน่าสนใจ ดึงดูดให้เครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม
ที่ประชุมยังมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจสาระสำคัญของทั้ง 6 ระเบียบวาระ เตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเครือข่ายกลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 นี้ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ ซึ่งภาคีเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นว่า ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 มีความสำคัญและเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะประชาชนในพื้นที่ จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐที่กำลังปฏิรูปประเทศในขณะนี้
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144