ชูธงปฏิรูปการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขับเคลื่อนสู่ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๘ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

  สช. เปิดเวทีระดมสมองภาคีเครือข่ายพันธกิจงานเอชไอเอ (HIA Consortium) เพื่อปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/HIA) หนุนทำรายงานภาพใหญ่เชิงยุทธศาสตร์ก่อนเริ่มโครงการที่ครอบคลุมทุกบริบททั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ในแต่ละพื้นที่ ดึงบริษัทที่ปรึกษาเข้าเป็นภาคีร่วมดำเนินการ เตรียมเสนอแนวทางต่อ สปช. ก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
   การเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง “การปฏิรูประบบระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/HIA) กับรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมสานใจ ๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ วิชาการ และประชาสังคม เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า ๕๐ คน
 
   อ.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำการเสวนา สรุปว่า ข้อคิดเห็นที่เกิดขึ้นในการเสวนาครั้งนี้ มีความหลากหลาย และมีประโยชน์มาก ซึ่งภาคีเครือข่าย HIA Consortium จะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
 
   “ความคิดเห็นส่วนใหญ่ สมควรให้คงหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ. ๒๕๕๐) เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน EIA/HIA กล่าวคือ เพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองปกป้องสิทธิชุมชนให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดี ลดความขัดแย้ง สร้างกระบวนการเรียนรู้ทุกภาคส่วนไปสู่ความสุขของประชาชน โดยต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. ระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”
 
   อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาต่างๆ ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกเหนือการจัดทำรายงาน EIA/HIA แล้ว คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอให้มีการจัดทำ รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) เพิ่มอีก เพื่อประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ สังคม และวิศวกรรม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่พื้นที่อย่างแท้จริงด้วย
 
   “หากมีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้มีการจัดทำ SEA และพบว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับทำเกษตรกรรมเท่านั้น และมีผู้ลงทุนสนใจจะทำเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับทราบ ก็ควรจะต้องหาพื้นที่อื่นที่เหมาะสมสำหรับการทำเหมืองแร่มากกว่า โดยไม่ต้องเสียเวลา หรือเสียงบประมาณในการจัดทำรายงาน EIA/HIA ต่อ โดยกระบวนการทำ SEA อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี แม้จะทำให้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการนานขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าสำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชน ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
 
   ทั้งนี้ การจัดทำ SEA คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเคยมีมติให้ดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เป็นหน่วยงานหลักดูแล เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร หากมีการบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีการดำเนินการที่ชัดเจนมากขึ้น
 
   น.ส.สมพร เพ็งคำ นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ เขียนประเด็นในเรื่องของการคุ้มครองปกป้องสิทธิชุมชนไว้ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ กฎหมายหรือระเบียบต่างๆที่รองรับ ยังไม่มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ ดังนั้นนอกเหนือไปจากหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายลูก , พ.ร.บ. และระเบียบปฏิบัติต่างๆ ควรต้องแก้ไขให้สอดคล้อง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองปกป้องสิทธิชุมชนอย่างแท้จริงด้วย นอกจากนั้น ควรมีองค์กรอิสระเฉพาะ ขึ้นมาทำหน้าที่ฟื้นฟูเยียวยา ผู้ได้ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ โดยไม่ต้องรอให้มีการฟ้องศาล และหากศาลตัดสินว่า ผู้พัฒนาโครงการมีความผิดจริง ก็ต้องมาจ่ายเงินชดเชยคืนกับองค์กร
 
   ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบการประเมินผลกระทบ ควรดำเนินการแบบรวมศูนย์ (Integrated Assessment : IA) ครอบคลุมทุกบริบท ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชุมชน ให้เกิดการมีส่วนรวม ปกป้องคุ้มครองสิทธิ และลดความขัดแย้ง
 
   นางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การจัดทำรายงาน EIA/HIA ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนกับ สผ. ซึ่งในอนาคต เสนอให้ควรมีหน่วยงานกำกับดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการพิจารณาโครงการที่ปัจจุบันคณะกรรมการผู้ชำนาญ (คชก.) จากส่วนกลาง เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น ควรปรับให้มี คชก. ในระดับพื้นที่ ที่สามารถพิจารณาโครงการเองได้ เพื่อเกิดความคล่องตัว และให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
 
   นายญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ตัวแทนชุมชนลุ่มแม่น้ำตาว อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ที่มาของการจัดทำรายงาน EIA/HIA เป็นเพียงแค่พิธีกรรม ที่ทำจะให้โครงการสามารถผ่านได้เท่านั้น แต่ความทุกข์ยากของชุมชนในพื้นที่ยังคงอยู่ ดังนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ควรเพิ่มการบัญญัติโทษไม่เฉพาะผู้พัฒนาโครงการ แต่รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นผู้จัดทำรายงาน EIA/HIA ด้วย และเสนอให้มีการติดตามผลการประเมินผลกระทบหลังจากที่โครงการเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย ๒-๓ ปี และควรมีกองทุนประกันความเสี่ยงและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ให้ได้รับความเป็นธรรม
 
   ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฯ ฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๘)
ลำดับ    ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญ    วันที่กำหนดแล้วเสร็จ
๑    ประชุม สปช. ครั้งแรก ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗
๒    ประธาน สปช. ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ    ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
๓    สปช. เสนอความเห็นต่อ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗
๔    กมธ. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ    ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘
๕    สปช. พิจารณาให้ข้อเสนอแนะหรือความเห็น    ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘
๖    สปช. / ครม. / คสช. เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติม    ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘
๗    กมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ    ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘
๘    สปช. พิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ    ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๘
๙    ประธาน สปช. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย ๙ กันยายน ๒๕๕๘
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ