3 ประเภท 7 พื้นที่ - รางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2557 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

 “รางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ปี 2557 นี้จึงนับเป็นปีที่ 3 ของโครงการดังกล่าว โดยมีแนวคิดและหลักการสำคัญเพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจ ไม่ใช่การประกวดแข่งขัน อีกทั้งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคีเครือข่ายที่สนใจนำเครื่องมือ “ธรรมนูญสุขภาพ” “สมัชชาสุขภาพ” และ “เอชไอเอ” ไปใช้เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
 
   รางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มี 3 ประเภท ได้แก่ “รางวัล 1 จังหวัด” เป็นรางวัลที่มอบให้กับจังหวัดที่มีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพอย่างโดดเด่นในปีนี้จังหวัดที่ได้รับรางวัลได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดลำปาง “รางวัล 1 พื้นที่” เป็นรางวัลที่มอบให้กับพื้นที่ที่มีการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมืออย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้พื้นที่ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ พื้นที่ตำบลริมปิง จังหวัดลำพูน พื้นที่ตำบลดงมูลเหล็ก จังหวัดเพชรบูรณ์และพื้นที่บ้านคลองอาราง ตำบลบ้านแก้ง จังหวัดสระแก้ว “รางวัล 1 กรณี” เป็นรางวัลที่มอบให้ชุมชนที่นำเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมาใช้อย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ ในปีนี้ชุมชนที่ได้รับรางวัลได้แก่ชุมชนอำเภอปราสาทและอำเภอเมือง กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุรินทร์และชุมชนจะนะ กรณีท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาอุตสาหกรรม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
 
   จังหวัดอุบลราชธานีด้วยความที่เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ปัญหาสุขภาพในจังหวัดอุบลราชธานีมีความซับซ้อนและหลากหลาย หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคมต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องประสานการทำงานร่วมกัน จึงได้นำเอาแนวคิดเรื่อง “สมัชชาสุขภาพ” มาใช้ในการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมพลังสมองจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2548 จังหวัดอุบลราชธานีได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นในเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพจำนวน 6 เวที โดยยึดหลักการกระจายพื้นที่, เพศ, วัย และ กลุ่มเฉพาะโรค จากสมาชิกองค์กรเครือข่ายในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบของหน่วยด้านสุขภาพต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี และประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีก็จะสามารถกำหนดทิศทางสุขภาวะของจังหวัดของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับสภาพความเป็นจริง และความเปลี่ยนแปลงของชุมชนมากยิ่งขึ้น
 
   จังหวัดลำปางด้วยระบบกลไกการทำงานที่มีระเบียบแบบแผนอย่างชัดเจนในการทำงานควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลเป็นระบบและการประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ คือปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปางมีความเข้มแข็งด้วยตัวของกลไกมิใช่จากบุคคลใดบุคคลหนึ่งลักษณะสำคัญของกระบวนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปางมีภาคประชาสังคมเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการภาควิชาการดำเนินงานการจัดกระบวนการทางวิชาการและกระบวนการเรียนรู้ภาครัฐเป็นหน่วยงานหนุนเสริมเพิ่มเติมทรัพยากรบุคลากรซึ่งทุกภาคีมีเป้าหมายร่วมกันคือต้องการเห็นสุขภาวะที่ดีของคนลำปางทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการที่มีการร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็นปัญหาที่แท้จริงด้านสุขภาวะของคนในจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียน ทำแบบสำรวจอย่างสม่ำเสมอเพื่อหาจุดบกพร่องเพื่อให้การดำเนินงานเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนายกร่างประเด็นให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและมีการเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมส่งผลให้มีการขยายตัวของเครือข่ายจาก58เครือข่ายเป็น123เครือข่ายในเวลาหนึ่งปีเศษอีกทั้งยังมีการเผยแพร่ประเด็นสาธารณะสู่สังคมโดยทีมสื่อท้องถิ่นทุกแขนงในจังหวัดลำปาง
ตำบลริมปิง จังหวัดลำพูน“อายุมั่นขวัญยืน”คำๆนี้มีความสำคัญมีคุณค่าและความหมายเพราะคือเป้าหมายอันสูงสุดของการดำรงชีวิตของคนตำบลริมปิงจากการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ตำบลริมปิงมุ่งสู่ตำบลแห่งความสุขโดยการดำเนินงานตามกรอบของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพตำบลริมปิงฯธรรมนูญฯ เล่มนี้เกิดจากการตกลงร่วมกันของคนในชุมชนเพื่อใช้เป็นแนวทางการดำรงชีวิตและกรอบการดำเนินงานของประชาชนและหน่วยงานทุกหน่วยงานนำไปสู่การเกิดบริบทธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติส่งผลเชิงบวกให้มีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นสัญญาใจร่วมกันของคนในชุมชนปลุกจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีความตระหนักเรื่องสุขภาพอาศัยพื้นฐานทางวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมคุณธรรมจริยธรรมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน
 
   ตำบลดงมูลเหล็ก จังหวัดเพชรบูรณ์ธรรมนูญสุขภาพสู่ตำบลสุขภาวะในพื้นที่ดงมูลเหล็ก เกิดขึ้นจากแนวคิดในการพัฒนาตำบลดงมูลเหล็ก ด้วยกระบวนการดำเนินงานที่ตรงประเด็น ร่วมกับวิสัยทัศน์การบริหารราชการแบบบูรณาการขององค์กรการบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็กหลายภาคส่วนมีโอกาสได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนของตนเองรวมถึงการได้รับข้อมูลที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้นำความต้องการของประชาชนไปบูรณาการการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนในตำบลดงมูลเหล็กโดยประชาชนของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
 
   บ้านคลองอาราง ตำบลบ้านแก้ง จังหวัดสระแก้วการได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนพูดคุย ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายและก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน คลองอารางแสดงให้เห็นถึงหมู่บ้านที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความคิดของคนในชุมชน การมองเพื่อนบ้านเหมือนญาติมิตร เมื่อมีคนทำผิดจึงมีการร่วมกันตักเตือนแก้ไข หากเกิดปัญหาขึ้นในชุมชนทุกคนในหมู่บ้านสามารถช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้เจ้าหน้าที่หรือผู้นำชุมชนมาจัดการแก้ปัญหา เมื่อมีการร่วมพูดคุยกัน หลายๆ ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญจะเกิดการแก้ไขที่ถูกต้อง อีกทั้งพวกเขาเป็นผู้ร่วมคิดร่วมสร้างธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาด้วยตนเอง จึงร่วมกันปฏิบัติตามเพื่อสังคมที่น่าอยู่และมีความสุขอย่างที่ตั้งใจ นำไปสู่ผลลัพธ์ของการเป็นหมู่บ้าน 4ดี บนวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
 
   โรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุรินทร์กระบวนการเอชไอเอชุมชนทำให้ชุมชนผู้ประกอบการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีความตระหนักและรับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มากขึ้นผู้ประกอบการมีความพยายามมากขึ้นที่จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเช่นมีการใช้ตาข่ายสำหรับคลุมป้องกันฝุ่นการช่วยเหลือขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อใช้แทนแหล่งน้ำที่สูญเสียไปหรือการสนับสนุนเครื่องกรองน้ำแม้การช่วยเหลือดังกล่าวยังห่างไกลกับคำว่าเพียงพอต่อคนในพื้นที่แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ประกอบการได้เริ่มที่จะตระหนักถึงความเดือดร้อนของชุมชนบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้า ทุกวันนี้แม้ปัญหาจะยังคงดำรงอยู่ ทุกฤดูกาลที่ข้าวเปลือกและอ้อยถูกขนส่งสู่โรงสีและโรงงานน้ำตาล เป็นช่วงเวลาที่ชุมชนต้องป้องกันตนเองจากผลกระทบที่เกิดขึ้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกต้องการความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังทั้งในระดับนโยบาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ประกอบการที่ต้องใส่ใจถึงผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในชุมชนเพื่อให้พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานที่สมควรเลือกอย่างแท้จริง
          
   ท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาอุตสาหกรรม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จากการต่อสู้มากว่า 10 ปี ของคนในพื้นที่จะนะ กับโครงการแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โครงการโรงไฟฟ้าจะนะ และการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ทำให้คนในชุมชนเกิดความเหนื่อยล้าในการต่อสู้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ แต่กระบวนการเอชไอเอชุมชน ทำให้ชุมชนมีแนวทางใหม่ในการนำเสนอข้อคัดค้านอย่างมีระบบมากขึ้น ซึ่งนอกจากการทำข้อมูลด้วยตนเองแล้ว กระบวนการเอชไอเอชุมชนยังเป็นเครื่องมือในการสร้างพลังความรู้ให้แก่ชุมชน ทำให้เกิดการย้อนคิดทบทวนตนเองของชุมชน การตระหนักถึงศักยภาพที่ตนมีจนนำไปสู่หนทางการขับเคลื่อนแบบใหม่ คนในชุมชนได้ใช้สิทธิของตนเองอย่างมีรูปธรรมชัดเจน มีการกำหนดอนาคตของชุมชนอย่างเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ชุมชนยังคงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิในการอนุรักษ์พื้นที่ของตนอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม พลังงานและปิโตรเคมี ยังเป็นทิศทางการพัฒนาของภาครัฐทุกยุคทุกสมัย และที่สำคัญ กระบวนการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า หน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบและกลไกของภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับสำนึกรักท้องถิ่นบ้านเกิดและศักยภาพของฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากร ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชนสามารถทำให้ชุมชนและประชาชนมีรายได้และเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและยังไม่เกิดผลกระทบทางมลพิษและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญทำให้ชุมชนและประเทศมีความสุข ร่ำรวย และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ