เปิดศาลาว่าการ กทม. แก้ปัญหา ‘สุขภาวะคนกรุง’ คาดกว่าพันชุมชน ร่วมกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   กทม.จับมือ สช. สสส. และภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ – จัดทำธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก 26 พ.ย.นี้ มุ่งหวังกำหนดข้อตกลง-กติกาการอยู่ร่วมกันบนความเห็นพ้องของคนทุกฝ่าย นำร่องเรื่อง “หาบเร่แผงลอย” รองผู้ว่าฯ คาด มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 ชีวิต พร้อมผู้นำชุมชนอีกกว่า 1,000 แห่ง เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์
 
   เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ต่อการจัดทำ “ร่างธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ซึ่งจะเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาสาธารณะและเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันบนความเห็นพ้องของทุกฝ่าย
 
   พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานร่วมฯ คจ.สก. เปิดเผยว่า ร่างธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานครกำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะถูกนำเข้าไปพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 26 พ.ย.นี้ เพื่อหาฉันทมติจากทุกฝ่าย หากได้รับความเห็นชอบก็จะประกาศใช้เป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาสาธารณะต่างๆ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของคน กทม.
 
   พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่พิจารณาร่วมกันมี 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ
2.การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของคนกรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันที่ 26 พ.ย. นอกจากจะมีผู้เข้าร่วมในที่ประชุมกว่า 200 คนแล้ว ยังได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำหรือตัวแทนชุมชนที่มีอยู่กว่า 2,070 ชุมชน ใน กทม. เข้าร่วมกระบวนการสมัชชาสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย โดยวางเป้าไว้มากกว่า 1,000 ชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในครั้งนี้ “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ เป็นกระบวนการเปิดพื้นที่รับฟังและเสนอแนะร่วมกันว่าเราจะมีทางออกอย่างไรบ้างในเรื่องหาบเร่แผงลอย เราจะใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันอย่างไร รวมทั้งเห็นชอบร่างธรรมนูญสุขภาพ กทม. ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาหลายเวทีหรือไม่อย่างไร ซึ่งกระบวนการนี้ถือเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันเพื่อทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ และสุขภาวะของคนกรุงเทพฯ ดีขึ้นในทุกระดับ”

 
   นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สุขภาวะไม่ใช่เรื่องของสุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บเพียงอย่างเดียว แต่คือภาวะที่เป็นสุขในทุกมิติ ซึ่งแนวทางที่จะทำให้ กทม.เกิดสุขภาวะที่ดีได้นั้น ต้องมาจากนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหามิติต่างๆ เช่น ฝุ่นควัน การขนส่งสาธารณะ หาบเร่แผงลอย เศรษฐกิจ ระบบหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ “กทม.เป็นมหานครของคนกว่าสิบล้านคน ทุกอย่างจึงมีความซับซ้อนและมีผู้เกี่ยวข้องมากมายหลายระดับ เมื่อเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาจึงแก้ได้ไม่ง่าย ในสถานการณ์เช่นนี้กระบวนการสมัชชาจึงน่าจะเป็นคำตอบ ด้วยกระบวนการรับฟังความเห็นที่เป็นระบบ หาจุดร่วม และสร้างเป็นข้อตกลงหรือพันธะร่วมกันของคนทุกภาคส่วน เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
 
   ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากคนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีกระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดทุกจังหวัด และมีธรรมนูญสุขภาพในระดับพื้นที่เป็นจำนวนมาก สำหรับ กทม. นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการจัดงานสมัชชาสุขภาพ และจัดทำธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ ขึ้น “บทบาทสำคัญในกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพคือ กทม. ที่เป็นหัวขบวนในการรับฟังความคิดเห็น จากผู้คนหลากหลายกลุ่ม หลายอาชีพ หลายสถานะ เพราะสุดท้ายแล้วชะตาชีวิตของคน กทม. ไม่สามารถถูกกำหนดหรือลงมือทำได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว แต่เป็นกระบวนการเหล่านี้ ที่ให้คุณค่ากับทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในสังคม”
 
   นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สช. กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ถูกสะท้อนออกมาในเวทีวันนี้ คือ ปัญหาความซับซ้อนของการบริหารงานใน กทม. ที่ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และต้องประสานหลายหน่วยงานในการทำงาน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับเรื่องของการมีส่วนร่วม ที่แม้หน่วยงานจะมีความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน แต่ยังมีข้อติดขัดจากนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง ข้อระเบียบต่างๆ รวมไปถึงความซับซ้อนของประชากรในแต่ละกลุ่มของ กทม. ที่มีความแตกต่างกันมาก “ทุกคนที่เข้าร่วมให้ความเห็นในวันนี้ นอกจากจะเป็นตัวแทนของแต่ละหน่วยงานแล้ว ยังมีบทบาทในการให้ความเห็นในฐานะชาว กทม.คนหนึ่ง ซึ่งมีภาพฝันที่อยากเห็นว่าจะให้ กทม.เป็นอย่างไร โดยสิ่งเหล่านี้จะถูกนำไปพัฒนาต่อสู่การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ที่จะไม่ใช่เพียงการได้เล่มหนังสือออกมา แต่จะเป็นกรอบข้อตกลงที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติด้วยกัน”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ