ผนึกกำลังขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์’ หวังแก้สุขภาวะสงฆ์ไทยก่อนวิกฤต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวที สช. เจาะประเด็น ผนึกกำลังทุกภาคส่วนแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ ๓ แสนรูป ยกร่าง ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ เป็นกรอบการปฏิบัติตน มหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สนับสนุน หวังพระสงฆ์ไทยห่างไกลโรคร้าย วอน รพ.สต. ช่วยเป็นหูตาเก็บข้อมูล ขณะที่กรมอนามัย เผยยอดพระป่วยโรคไขมันในเลือด ความดัน และเบาหวานมากสุด
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็นครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ “บ้าน-วัด-โรงพยาบาล...พระสงฆ์ไทยในวิกฤตสุขภาวะ” เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี
 
   นพ. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เปิดเผยว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ได้มีฉันทมติต่อเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” เพื่อหวังสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ที่พบปัญหาอยู่จำนวนมาก หลังจากบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งสงฆ์และฆราวาสจากหลายหน่วยงาน ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา พบว่าเรื่องนี้ต้องยกระดับเป็น นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยยึดหลักการสำคัญ “ใช้ทางธรรมนำทางโลก” ภายใต้แผนปฏิบัติการ ๕ แนวทาง ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านข้อมูล ด้านการพัฒนา ด้านบริการสุขภาพและสวัสดิการ ด้านการวิจัยและพัฒนาชุดความรู้ในรูปแบบต่างๆ
 
   ขณะนี้ ภาคีที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันยกร่าง “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นกรอบและแนวทางส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศตามหลักการของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ โดย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะจัดเวทีระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยตั้งเป้าว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายในช่วงปลายปี ๒๕๖๐ นี้ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นเจ้าภาพหลักจัด โครงการอบรมพระอาสาสมัครสุขภาพประจำวัด (พระ อสว.) และ โครงการ “วัดส่งเสริมสุขภาพ” ที่สนับสนุนให้วัดเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาวะของพระสงฆ์ ชุมชน และสังคม
 
   “ขณะนี้มหาเถรสมาคมได้รับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับที่ ๑ แล้ว รวมทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป”
 
   นพ. ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ตามแผนการทำงาน ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้ถวายรายงานเรื่องนี้ต่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในเร็วๆ นี้ โดยมหาเถรสมาคมก็ได้ให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และพร้อมนำพาคณะสงฆ์ไทยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ต่อไป
 
   พระครูสังฆกิจพิมล (สุรศักดิ์ สุรญาโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง กล่าวว่า ในการสร้างสุขภาวะของพระสงฆ์ วัดและชุมชนต้องเข้มแข็ง โดยเฉพาะวัดเองต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในวัด ยกตัวอย่างกรณีวัดชลประทาน ซึ่งมีโครงการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้คำนึงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่นำมาถวายพระในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
 
   นอกจากนี้ยังมีกฎเหล็กที่ไม่ให้พระสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า และเสพสิ่งเสพติด และยังเป็นผู้นำการรณรงค์ในชุมชนและองค์กรภายนอกด้วย นับเป็นภารกิจของวัดที่ทำต่อเนื่องนับจากสมัยพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นเจ้าอาวาส
 
   “การทำบุญที่ดีที่สุด คือทำสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการถวายอาหารพระที่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งพระต้องมาช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่มาสร้างปัญหา ดังนั้นพระสงฆ์ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วยทั้งกายและใจ”
 
   ทั้งนี้ ตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ โดยชุมชนและสังคมต้องมีส่วนช่วยโดยการมีแนวทางอุปัฏฐากพระสงฆ์อย่างถูกต้อง ซึ่งหลักการสำคัญในการพัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์ใช้หลักทางสายกลางไม่สุดโต่ง ทำอะไรแต่พอดี ทั้งการฉัน และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
 
   ด้าน นายประสงค์ จักรคำ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า แนวทางการทำงานของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ มุ่งรณรงค์ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยนมัสการเจ้าคณะผู้ปกครอง ทั้งเจ้าคณะตำบล และอำเภอ ให้เป็นผู้นำในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่พบคือ ในจำนวนพระสงฆ์กว่า ๓ แสนรูป แต่มีข้อมูลด้านสุขภาพเพียง ๕๐,๐๐๐ รูปเท่านั้น นอกจากนี้พระสงฆ์ส่วนมากกลัวทำผิดพระธรรมวินัย และจำพรรษาในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเต็มที่
 
   “พศ. ต้องการความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สนับสนุนการเก็บข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ในชุมชนต่างๆ เพื่อนำมารวบรวมและวิเคราะห์ ให้การจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์เกิดขึ้นได้ และขอความร่วมมือในการออกหน่วยตรวจสุขภาพพระสงฆ์ที่วัด เดือนละ ๑-๒ ครั้ง”
 
   นอกจากนั้นจะมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพพระสงฆ์ เช่น เรื่อง อาหารใส่บาตร ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะช่วยสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กและผู้ปกครอง รวมถึงญาติโยมทั้งหลายให้เกิดเป็นเครือข่ายรณรงค์ในชุมชนต่อไป และเนื่องในโอกาส วันวิสาขบูชา ๑๐ พฤษภาคม นี้ พศ. ก็ขอรณรงค์ให้เลือกอาหารถวายที่เหมาะสมกับสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพระสงฆ์กลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มใหม่ของสังคม
 
   “การที่ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันในเรื่องนี้ จะทำให้ประเด็นพระสงฆ์กับสุขภาวะกลายเป็น วาระแห่งชาติ ในที่สุด และนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือ พระสงฆ์ห่างไกลโรค”
 
   นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติอาการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ พบว่า โรคลำดับต้นๆ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และต้อกระจก ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
 
   แนวทางการแก้ปัญหาของกรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเครือข่ายสังฆะพัฒนาพุทธชยันตี ๔ ภาค มีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อน ประกอบด้วย ๔ แนวทาง ได้แก่ ๑. การแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ที่อาพาธ ๒. การสร้างเสริมและป้องกันโรคพระสงฆ์ ๓. การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (โครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ) และ ๔. การหนุนเสริมบทบาทสงฆ์ต่อการพัฒนาสุขภาวะชุมชนและสังคม โดยหลังจากนี้ จะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ
เอกสารแนบ