ภาคีสุขภาพปักหมุด! ปั้น Pocket Park ทั่วกรุง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content
Audio file

   สช. สานพลังภาคีเครือข่าย ‘สุขภาพ-เมือง’ เปิดวงถก “สวน สาน ธารณะ” ระดมไอเดียสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็ก-พื้นที่สีเขียวชุมชน ทั่ว กทม. “นพ.ประทีป” ขานรับข้อเสนอ เตรียมผลักดันเข้าสู่งานสมัชชากรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ปีหน้า
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพและเมืองสุขภาวะ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สวน สาน ธารณะ : Klongsan Pop-up Park” ขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ณ พื้นที่ว่างภายในชุมชนช่างนาค-สะพานาว เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร (กทม.)
 
   สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เป็นตัวอย่างการนำพื้นที่รกร้างใน กทม. มาพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ (public space) ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กทม. เป็นมหานครที่มีผู้คนและวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งภายใต้ความซับซ้อนเหล่านั้นเกิดเป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพได้อย่างยั่งยืนก็คือการสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ทุกคนเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน
 
   นพ.ประทีป กล่าวว่า ทุกวันนี้ กทม.มีพื้นที่ของรัฐและเอกชนที่ถูกทิ้งร้างอยู่เป็นจำนวนมาก หากสามารถนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อมของชุมชน (Pocket Park) ที่กระจายอยู่ในละแวก 400-500 เมตร และสามารถเข้าถึงได้ภายใน 5 นาที ก็จะช่วยพัฒนา กทม.และช่วยแก้ปัญหาสุขภาพได้
 
   “หลังจากนี้ สช. จะสานพลังภาคีเครือข่ายเข้ามาทำงาน และรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ปี 2564 เพื่อสร้างรูปธรรมในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง” นพ.ประทีป กล่าว
 
   นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวในเวทีเสวนาการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในอนาคต ตอนหนึ่งว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าการดำเนินการเพื่อเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวโดยภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชน จึงก่อกำเนิดเป็นโครงการ Green Bangkok 2030
 
   นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในอดีต กทม. จะดำเนินการได้เฉพาะที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ เช่น ที่ราชพัสดุ หรือที่ดินรกร้างอื่นๆ ของรัฐ แต่โครงการ Green Bangkok 2030 จะเปลี่ยนแนวคิดการเข้าถึงที่ดินด้วยการเปิดช่องให้เอกชนเช้ามามีส่วนร่วม
 
   ทั้งนี้ โครงการ Green Bangkok ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้อยู่ที่ 10 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งพื้นที่คลองสานแห่งนี้ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เสนอให้ กทม. เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดย กทม.เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะได้พื้นที่แปลงอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย
 
   “ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจพื้นที่รกร้างและเข้าไปเจรจากับหน่วยราชการและเอกชนว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่พร้อมให้ กทม.เข้าไปพัฒนาเพื่อสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน” นายวิรัตน์ กล่าว
 
   นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหาร สช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องอากาศร้อน ฤดูฝนยาวนาน ยุงชุม ฝุ่นควันมาก ดังนั้น ต้องช่วยกันคิดว่าจะออกแบบพื้นที่สาธารณะอย่างให้เพื่อเอาชนะข้อจำกัดหรือปรับตัวเข้ากับสิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสม โดยต้องลำดับความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ ความปลอดภัย การยอมรับ การเข้าถึง และความงาม ที่สำคัญคือต้องศึกษาประชากรโดยรอบ เช่น กลุ่มอายุ สภาพร่างกาย เวลา ความสนใจ เพื่อออกแบบให้เหมาะสมต่อความหลากหลายด้วย
 
   “เท่าที่เห็นบางส่วนยังให้ความสำคัญกับความงามมากกว่าประโยชน์ใช้สอยและความปลอดภัย เช่น การออกแบบที่นั่งที่ไม่มีพนักพิง ทำให้นั่งไม่สบาย ไม่สอดรับกับสรีระมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้” นพ.วิชัย กล่าว
 
   นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้หลายชุมชนลุกขึ้นมาจัดการพื้นที่สีเขียวของตัวเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งอาหารเพื่อสร้างความมั่นคง มากไปกว่านั้นสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวยังได้สานสัมพันธ์คนในชุมชนเข้ามาร่วมกันวางแผนรับมือวิกฤตอนาคตในมิติอื่นๆ ด้วย
 
   นางทิพย์รัตน์ กล่าวว่า การสร้าง Pocket Park ให้เกิดขึ้นในละแวกชุมชนสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและข้อตกลงของสหประชาชาติ ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินการจำเป็นต้องมีกลไกร่วมเพื่อจัดการพื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนมีมาตรการผังเมือง-ผังย่าน มีมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจเอื้อให้เอกชนเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ หรือการสร้างกองทุนร่วมของเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่
 
   นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชื่อดัง กล่าวว่า การสร้างสวนสาธารณะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเป้าหมายที่จะสร้างมีจำนวนมาก ในมุมหนึ่งอาจกลายเป็นภาระให้กับภาคราชการ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น งบประมาณสำหรับรดน้ำต้นไม้ ดังนั้นหากดำเนินการจริงจำเป็นต้องคิดในมิติเศรษฐกิจด้วย คือจะทำอย่างไรให้สวนสาธารณะอยู่ได้ด้วยตัวเอง
 
   “นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย จากประสบการณ์ตรงที่ผมได้ทำตลาดนัดมา 5 ปี พบว่าการทำตลาดนัดให้มีกำไรยากมาก จะเก็บค่าที่แพงก็ไม่มีคนขาย หรือถ้าไม่มีคนมาเดิน ก็จะไม่มีคนมาขายอีก ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่สุดคือต้องช่วยกันคิดว่าจะบริหารสวนสาธารณะอย่างไร ใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้บริหาร ใครเป็นที่ปรึกษา จะสร้างกิจกรรมหรือหารายได้อย่างไร ในแง่ธุรกิจจะอยู่รอดอย่างไร” นายดวงฤทธิ์ กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ
ภาคีสุขภาพปักหมุด