สู่ทศวรรษที่สอง ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ นโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูปสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ ประกาศ ๔ วิสัยทัศน์เพื่อยกระดับกระบวนการขับเคลื่อนหนุนแนวทางปฏิรูปประเทศ เชื่อมสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม นักวิชาการระดับโลกยกย่องแนวทางสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สำคัญที่สุดต่อสังคมยุคใหม่ที่มีสารพัดปัจจัยคุกคามสุขภาวะประชาชน มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
   การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ภายใต้ประเด็นหลัก “๑๐ ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ” ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ปิดฉากลงด้วยความสำเร็จ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมมีฉันทมติต่อ ๔ ประเด็นนโยบายสาธารณะ และประกาศชื่นชมรูปธรรมความสำเร็จอันเป็นดอกผลของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา พร้อมประกาศวิสัยทัศน์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในทศวรรษที่ ๒
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่ทศวรรษที่ ๒: มองให้ไกล ไปให้ถึง” ว่า ความสำเร็จของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในทศวรรษแรก คือ สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนให้หันมองเรื่องสุขภาพในมิติที่กว้าง มุ่งสู่แนวทาง “สร้างนำซ่อม” และนำเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญระบบสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ มาใช้พัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน วิชาการ/วิชาชีพ และประชาสังคม โดยใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) ไม่ใช่อำนาจสั่งการ (Hard Power) สร้างความสมานฉันท์สู่การพัฒนาร่วมกัน
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ในทศวรรษที่สองต่อจากนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะมุ่งเน้นสู่วิสัยทัศน์ ๔ ด้านหลัก คือ ประการที่ ๑ ยกระดับสมัชชาสุขภาพ หนุนให้เป็นเครื่องมือปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทั้งเรื่องสาธารณสุข สังคม สิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ได้เตรียมการรองรับเรื่องนี้แล้ว ประการที่ ๒ สมัชชาสุขภาพจะเป็นเครื่องมือสานพลังพลเมืองในประเด็นที่แก้ไขได้ยาก แม้จะมีนโยบายแล้วก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เช่น ปัญหาขยะ ยาเสพติด อุบัติเหตุจราจร ฯลฯ ประการที่ ๓ การพัฒนาสมัชชาในรูปแบบ/ประเด็นอื่นๆ ที่กว้างขึ้น เช่น สมัชชาพลเมือง สมัชชาเด็กเยาวชน สมัชชาสิ่งแวดล้อม สมัชชาชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป ประการที่ ๔ ต้องพัฒนารูปแบบสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่ “สมัชชา ๔.๐” นำระบบออนไลน์มาใช้เชื่อมโยงกับภาคีจังหวัดต่างๆ และมีตัวแทนของคนสามวัย คือ คนรุ่นใหม่ วัยกลางคน และกลุ่มผู้สูงวัย ตามแนวคิด “ทันสมัยและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
 
   “เป็นการแสดงให้เห็นดุลยภาพและพลานุภาพใหม่ว่า ประชาชนไม่ได้รอคอยการเมืองหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเดียว แต่เราลุกขึ้นมาทำประชาธิปไตยที่กินได้ กำหนดได้ด้วยตัวเราเอง”
 
   ในเวทีเสวนา “๑๐ ปี สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ: บทเรียน ความสำเร็จ และความท้าทาย” โดย ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา อดีตประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ จากภาคธุรกิจ กล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐบาลดำเนินโครงการประชารัฐ ที่มีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มาผนึกกำลังร่วมกัน ขณะที่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติคนแรก ในปี ๒๕๕๑-๕๒ จากภาคราชการ กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพจังหวัดจนถึงระดับชาติ ทำให้เกิดมติหลายประเด็น แต่ความสำเร็จต้องอาศัยเวลาและพลังในการขับเคลื่อน เช่นเดียวกับมติคณะรัฐมนตรีหรือมติสมัชชาองค์การอนามัยโลก สิ่งที่สำคัญคือทำให้เกิด “ภราดรภาพ” ความเป็นพี่น้องร่วมมือกันขับเคลื่อน ดังนั้น ภารกิจหลังจากนี้คือการขยายสู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด เพื่อสร้างพลเมืองเข้มแข็ง (Active citizen) ส่วน น.ส.จงกลนี ศิริรัตน์ แกนประสานงานสมัชชาสุขภาพจากอุบลราชธานี กล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพในอนาคต ควรมุ่งสู่สมัชชาสุขภาพระดับอำเภอหรือตำบลเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะโดยคนในพื้นที่จริงๆ จากนั้นจึงนำเสนอต่อจังหวัดเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผล โดยที่อุบลราชธานี ขณะนี้กำลังผลักดันให้มีสมัชชาสุขภาพอำเภอทั้ง ๒๕ อำเภอ ปิดท้ายที่ นายพีธากร ศรีบุตรวงษ์ ผู้แทนเยาวชนรุ่นใหม่จากจังหวัดอุดรธานี ซึ่งกล่าวถึงประโยชน์ของสมัชชาสุขภาพที่ช่วยปลูกฝังแนวคิดผ่านกรอบประชาธิปไตยโดยการใช้ฉันทมติ อย่างไรก็ดี ความท้าทายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติคือการแสวงหาตัวแทนที่แท้จริงของสมัชชาสุขภาพแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เพียงเพื่อมาออกความเห็นหรือลงมติ แต่เพื่อนำมติที่สอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ไปขับเคลื่อนด้วย
 
   ไฮไลต์สำคัญในช่วงท้ายของงาน คือ การปาฐกถาพิเศษของ Dr.Illona Kickbusch Director of the Global Health Centre, the Graduate Institute of International and Development Studies, Geneva ที่ระบุว่า ทุกประเทศกำลังประสบประเด็นท้าทายทางสุขภาพ จากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การสื่อสาร และการเมือง จึงต้องให้ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาครัฐ ตัดสินใจร่วมกัน ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) มองเห็นปัจจัยใหม่ๆ ที่กระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งด้านการลงทุนและการค้า ที่จำเป็นต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุม ตลอดจนปัจจัยด้านการเมืองที่สร้างบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องสุขภาพของคนในสังคม แต่ประเด็นสุขภาพก็ไม่ใช่เพียงเรื่องของการตัดสินใจทางนโยบาย (Political Choice) แต่ยังเป็นการตัดสินใจในการลงทุน (Investment Choice) ที่เหมาะสมด้วย เช่น การให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสร้างความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ (Health Literacy) ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการดูแลสุขภาพของประชาชน
 
   “การผลักดันประเด็นนโยบายสาธารณะหรือออกกฎหมาย ต้องอาศัยนักการเมืองที่กล้าหาญ เห็นความสำคัญของทุกนโยบายที่ห่วงใยสุขภาพ กระทั่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีปรัชญาการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาประยุกต์ใช้ได้” Dr.Illona Kickbusch กล่าว
 
   ขณะที่มุมมองปราชญ์ชาวบ้าน นายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ช่วย “จุดติด” หลายภาคส่วนให้ตื่นตัวลุกขึ้นมาสร้างสังคมสุขภาวะ โดยเฉพาะจังหวัดที่ใช้ฐานวัฒนธรรมท้องถิ่นเชื่อมโยงการทำงานกับชาวบ้าน มองเห็นคุณค่าของนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ตนเอง โดยนายสุรินทร์ยังเสนอกลยุทธ์ ๓ ด้านเพื่อการทำงานในทศวรรษหน้า คือ ๑.ให้ความสำคัญกับสมัชชาสุขภาพชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล/อำเภอ ๒.ขับเคลื่อนร่วมกับโครงการทำดีเพื่อพ่อ เพื่อตามรอยพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ ๙ และ ๓. ผนึกกำลังหน่วยงานองค์กรสุขภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่พื้นที่
 
   ในปี ๒๕๖๐ นี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ได้ประกาศชื่นชมรูปธรรมความสำเร็จของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปขับเคลื่อน เช่น การประกาศ พ.ร.บ.การควบคุมการส่งเสริมการตลาด อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งเป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ เรื่อง “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” การขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารปลอดภัยในจังหวัดยโสธรและฉะเชิงเทรา และการบริหารจัดการน้ำประปาปลอดภัยในชุมชนในจังหวัดชัยนาท เป็นต้น และในปีนี้ สมาชิกสมัชชาสุขภาพได้มีฉันทมติ ๔ ประเด็นนโยบายสาธารณะใหม่ ได้แก่ ๑.การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ๒.ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ๓.การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา และ ๔.การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน และในช่วงสุดท้ายของงาน ได้มี พิธีส่งมอบตำแหน่งประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๒ ให้แก่ นพ.กิจจา เรืองไทย ซึ่งถือเป็นการปิดฉากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้ง ๑๐ ท่ามกลางความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ