งานสร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 2 เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายตายดี ภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะทำงานสร้างสุขที่ปลายทางพร้อมนำทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบายตายดีและพัฒนาระบบดูแลแบบประคับประคอง วงเสวนาชี้การถอดเครื่องพยุงชีวิตต่างๆ ในช่วงวาระสุดท้าย คือ การทำบุญครั้งสุดท้ายให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ
 
   เวที “สร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 2” จัดโดยคณะทำงานสร้างสุขที่ปลายทาง เป็นความร่วมมือขององค์กรด้านสุขภาพ 11 แห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา, กลุ่ม Peaceful Death, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กระทรวงสาธารณสุข, สภาการพยาบาล, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และภาคีเครือข่าย โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทารา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ มีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เพื่อเรียนรู้ความตายอย่างแท้จริง
 
   โดยในวันนี้ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561) ซึ่งเป็นวันแรกของการจัดงาน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สร้างสุขที่ปลายทาง ภารกิจร่วมของ ทุกภาคส่วน” ระบุว่า กว่า 60 ปีมาแล้วที่มีการนำเรื่องเทคโนโลยี และระบบบริการที่ดีมาใช้ในการยื้อชีวิต โดยเฉพาะในสังคมสูงวัยใน ทำให้การใช้เงินเพื่อดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายสูงมาก
 
   จากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) พบว่าค่าใช้จ่ายของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในเดือนสุดท้ายของชีวิตในโรงพยาบาลประมาณ 45,000-340,000 บาทต่อคน เปรียบเทียบกับการดูแลผู้ป่วยที่ที่บ้านอยู่ที่ประมาณ 27,000 บาท
 
   พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 จึงเข้ามารองรับเพื่อแก้ปัญหา โดยระบุถึง “สิทธิบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อการยื้อชีวิตในระยะสุดท้าย” ซึ่งมีกฎกระทรวงรองรับแล้ว หรืออาจเรียกว่า “พินัยกรรมชีวิต” ถือเป็นการปรับกระบวนทัศน์ต่อการจัดการชีวิต จัดระบบการดูแลอย่างองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา โดยหมายรวมถึงการบำบัดรักษา และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งเป็นคำตอบของการตายแบบมีคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ป่วยมีความสุข สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่ท่ามกลางคนที่เรารัก และไม่เจ็บป่วยทุกข์ทรมานเกินไป
 
   โดยในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการขยายเครือข่ายการทำงานไปยังบุคลากรของโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ พบกระแสความสนใจและตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มาให้ความสำคัญกับการมีหน่วยดูแลประคับประคองมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบบของโรงพยาบาล รวมทั้งพัฒนาความพร้อมของบุคลากร
 
   ในวันเดียวกัน ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “การรับมือกับความตายในสังคมยุค ๔.๐ “ โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายศรัณย์ ไมตรีเวช หรือ ดังตฤณ นักเขียนอิสระ และนายนที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดด้าเบลส ศิลปินนักร้อง
 
   ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า การตายในยุคนี้ไม่น่ากลัวอีกต่อไป แม้จะเป็นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งในระยะลุกลาม เพราะมียาที่ช่วยบำบัดความปวดได้ ทำให้คนไข้อยู่กับมะเร็งอย่างสันติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อวาระนั้นมาถึงต้องมีการสื่อสารกับคนไข้และคนในครอบครัว เพื่อให้รู้ว่าช่วงสุดท้ายของชีวิตต้องการทำอะไร และเติมเต็มชีวิตให้กันอย่างไร
 
   “ทางที่ดีที่สุดคือผู้ป่วยต้องทำหนังสือแสดงเจตนา (Living Will) เพื่อบอกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ดูแลรักษาในระยะสุดท้ายอย่างไร ซึ่งแพทย์พยาบาลส่วนใหญ่เคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย”
 
   ขณะที่ ผศ.ดร.ภาวิกา กล่าวว่า อุปสรรคหลายประการในสังคมไทยที่ทำให้เราไม่สามารถตายอย่างสงบได้ นั่นก็คือ การถูกแทรกแซงการตัดสินใจจากญาติ ไม่เคารพการตัดสินในของผู้ป่วย และสังคมไทยไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องความตายอย่างเพียงพอ
 
   ขณะที่ นายศรัณย์ หรือ ดังตฤณ แนะนำว่า ทุกคนต้องซ้อมตายบ่อยๆ ให้นึกนาทีสุดท้ายของชีวิตในทุกๆ วัน เพื่อให้วันนั้นมาถึงจริงๆ จะเป็นการตายอย่างสงบ นึกถึงสิ่งที่เป็นบวก ต้องใจสว่าง มีจิตผ่องใส และจะไปสู่สุขคติ
 
   “ต้องปรับความคิดว่า การถอดเครื่องพยุงชีวิตต่างๆ ในช่วงวาระสุดท้าย ให้พ่อแม่จากไปอย่างสงบ คือ การทำบุญครั้งสุดท้ายให้พ่อแม่”
 
   นายนที หรือ อุ๋ย บุดด้าเบลส กล่าวว่า ในระยะสุดท้ายของชีวิต ต้องเคารพความต้องการของผู้ป่วย และนึกถึงผู้ป่วยไว้เสมอว่า จริงแล้วเขาต้องการอะไร คนรอบข้างต้องปรับความคิดใหม่ ไม่ไปยุ่งกับชีวิตของผู้ป่วยมากเกินพอดีจนไปตัดสินใจแทนผู้ป่วย ทั้งที่เขาอาจไม่ต้องการแบบนั้นก็ได้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ