ผนึกภาคีเครือข่ายสร้างสุขที่ปลายทาง พลิกโฉมระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสู่ ‘การตายดี’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะทำงานสร้างสุขที่ปลายทางเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ร่วมกับเครือข่ายและจิตอาสา เปลี่ยนทัศนคติสังคม-สานพลัง 4 ประเด็นหลัก ขณะที่แพทย์เตือนประเทศไทยเผชิญหน้าภาวะสึนามิลูกใหญ่ในระบบสุขภาพ เสนอออกกฎหมายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการทำงาน
 
   เวที “สร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 2” ระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2561 จัดโดยความร่วมมือขององค์กรด้านสุขภาพ 11 แห่ง ในนามคณะทำงานสร้างสุขที่ปลายทาง ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยงานวันที่ 2 พ.ย. ยังคงมีผู้สนใจฟังการเสวนา ชมนิทรรศการ และกิจกรรมการสานสัมพันธ์กว่า 400 คน
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปาฐกถา “ก้าวต่อไป: สร้างสุขที่ปลายทาง” ว่า ปัจจุบันความตายในสังคมยุค 4.0 มีความซับซ้อนจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ และมิติความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์ นำมาซึ่งความยากลำบากในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ความตายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะนี้องค์กรภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติ หรือ ‘การตายดี’ ภายใต้มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มากขึ้นเรื่อยๆ โดย มุ่งสานพลังสร้างสุขที่ปลายทาง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การสร้างความรู้ความเข้าใจจนนำไปสู่ทัศนคติที่ดีและการปฏิบัติให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมร่วมมือกับองค์กรทางศาสนา ทั้งมหาเถรสมาคม สภาคริสจักรในประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรี ฯลฯ 2.ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องตายดีทั้งภาครัฐ สถาบันวิชาการ ตลอดจนจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและญาติ
 
   3.พัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย ระบบการเข้าถึงยาแก้ปวดกลุ่ม opioids การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพและระบบสนับสนุน อาทิ ระบบการเงินการคลัง การส่งต่อผู้ป่วย และการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของผู้ป่วยหรือ Living Will และ 4.การพัฒนาวิชาการและการจัดการความรู้ สำหรับการส่งเสริมการใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต รวมถึงจัดทำคำนิยามปฏิบัติการ (Operational definition) การดูแลแบบประคับประคองให้ชัดเจนในทางปฏิบัติต่อไป
 
   ด้าน รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนา “Living Will คือการุณยฆาต จริงหรือ?” ว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อให้เกิดการตายดีไม่ใช่การหยุดรักษา แต่เปลี่ยนวิธีการรักษาที่ยื้อชีวิตมาเป็นการรักษาตามธรรมชาติและดูแลแบบประคับประคอง ให้ผู้ป่วยทรมานน้อยที่สุด ต่างจากการุณยฆาตคือการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
 
   “ประเด็นปัญหานี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากสังคมไทยจะเผชิญหน้ากับสึนามิของสังคมสูงวัย การรักษาโดยไม่เกิดประโยชน์จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยังมีโอกาสรอด ญาติ โรงพยาบาล และทรัพยากรของประเทศชาติโดยรวม ดังนั้น รัฐบาลต้องมีกฎหมายที่เอื้อให้บุคลากรด้านสุขภาพและโรงพยาบาลทำงานให้เกิดการตายดี”
 
   นพ. ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ทุกคนสนใจเรื่องการทำ Living Will หรือ สมุดเบาใจ เอาไว้ล่วงหน้า เพราะถือเป็นการวางแผนการรักษา หรือ Advance care plan อย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตายดี ไม่มีปัญหาในช่วงสุดท้ายของชีวิต
 
   “สิ่งที่เราพบคือผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีแผนการรักษาที่ตนเองต้องการในช่วงวาระท้ายของชีวิต ดังนั้น Advance care plan จึงจำเป็นสำหรับคนไข้ที่จะระบุความต้องการเรื่องการรักษาพยาบาล หรือเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นในช่วงวาระท้ายของชีวิตที่ชัดเจนไว้ หรือบางคนอาจมอบให้ญาติที่ไว้วางใจเป็นผู้ตัดสินใจแทนในช่วงนั้นก็ได้”
 
   ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ปาฐกถา “การเตรียมชีวิตอย่างเป็นสุข” ว่า ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่บนโลกด้วยศรัทธาและมีความหมาย ซึ่งจะทำให้จิตใจไม่ถูกเบียดเบียนจากความกลัวตาย
 
   “การแก่ เจ็บ ตาย ไม่ใช่สิ่งที่มากดทับจนเราสูญเสียความเบิกบาน แช่มชื่นของการมีชีวิตอยู่ ตรงนี้จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่สังคมไทยควรมาเรียนรู้ร่วมกันถึงปรากฎการณ์ในชีวิต และอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ